• Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0811/15586ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

เลขที่หนังสือ กค 0811/15586ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

  • Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0811/15586ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

เลขที่หนังสือ กค 0811/15586ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

เลขที่หนังสือ : กค 0811/15586
วันที่ : 10 พฤศจิกายน 2541
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
ข้อกฎหมาย : มาตรา65 ตรี (5), มาตรา77/1 (8), มาตรา82/5 (3)
ข้อหารือ : บริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) โดยบริษัทฯจะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและจำหน่ายให้แก่ กฟฝ. โดยผ่านระบบส่งไฟฟ้าใหม่ของ กฟฝ. โดยข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. บริษัทฯ จะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและจำหน่ายให้แก่ กฟฝ. ทั้งนี้บริษัทฯ จะมีหน้าที่ทำการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่เพื่อทำการเชื่อมโยงระหว่างโรงไฟฟ้ากับระบบเดิมของ กฟฝ. ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ผลิตไฟฟ้า
2. ในการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่ จะประกอบด้วยเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าโดยเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงจะมีลักษณะเป็นเสาโครงเหล็กซึ่งสามารถถอดประกอบได้ มีฐานเป็นเสาสี่เหลี่ยมประกอบต่อจากเสาคอนกรีตซึ่งฝังอยู่ในพื้นดิน แล้วเทคอนกรีตทับข้างบนนั้น ในการก่อสร้างดังกล่าวบริษัทฯเป็นผู้จัดหาเงินมาเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่าย โดยบริษัทฯ จะทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์กับผู้จำหน่ายอุปกรณ์แล้วนำอุปกรณ์ไปใช้ในการก่อสร้างและทำสัญญาจ้างเหมากับผู้รับเหมาก่อสร้างโดยตรง โดยมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบที่ กฟฝ. กำหนด จนกระทั่งงานแล้วเสร็จและผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจาก กฟฝ. จึงถือว่าบริษัทฯได้ปฏิบัติตามสัญญา และหากบริษัทฯ จำเป็นต้องใช้ที่ดินของราษฎร
เพื่อทำการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่กฟฝ. จะใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ในการประกาศเขตสำรวจและกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้าในที่ดินของราษฎร โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและค่าทดแทนในการใช้ที่ดินที่ประกาศเป็นเขตเดินสายไฟฟ้าและตั้งเสาไฟฟ้า แต่เนื่องจากระบบดังกล่าวมีการสร้างผ่านที่ดินของราษฎร โดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว จึงมีผลให้ระบบส่งไฟฟ้าใหม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กฟฝ. บริษัทฯ ผู้ก่อสร้างไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของระบบดังกล่าว เมื่อก่อสร้างเสร็จก็จะไม่มีการส่งมอบให้ กฟฝ. เนื่องจาก กฟฝ. เป็นเจ้าของมาโดยตลอด และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่ทั้งหมดบริษัทฯ จะกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว กฟฝ. ยินยอมให้บริษัทฯ เรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวซึ่งรวมดอกเบี้ยในรูปของ"เงินเพิ่มค่าระบบไฟฟ้า" (Added Facility Charge) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าเป็นระยะเวลา17 ปี โดยแยกเป็นรายการหนึ่งรวมอยู่ในใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าที่บริษัทฯ เรียกเก็บจาก กฟฝ. ทุกเดือนจึงขอทราบว่า
ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ ดังนี้

1. เมื่อ กฟฝ. ได้ตรวจสอบและอนุมัติระบบส่งไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากกรรมสิทธิ์ของระบบทั้งหมดเป็นของ กฟฝ. จึงไม่มีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินแต่อย่างใด บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีให้แก่ กฟฝ.
2. ภาษีซื้อของค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้าง บริษัทฯ สามารถนำไปเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ได้ทั้งจำนวน
3. การลงทุนก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนของโครงการ จะถือเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย : 1. กรณีการโอนระบบส่งไฟฟ้าใหม่ ตามข้อเท็จจริง เนื่องจากระบบดังกล่าว บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น กรณีจึงถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ประกอบกับสายส่งไฟฟ้าและเสาไฟฟ้าแรงสูงจะมีลักษณะเป็นเสาโครงเหล็ก ซึ่งสามารถถอดประกอบได้ มีฐานเป็นเสาสี่เสาประกอบต่อจากเสาคอนกรีตที่ฝังอยู่ในพื้นดินแล้วเทคอนกรีตทับข้างบน เข้าลักษณะเป็นสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเข้าลักษณะเป็นสินค้า ตามมาตรา 77/1 (9)แห่งประมวลรัษฎากรดังนั้น การโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ กฟฝ. จึงถือเป็นการขาย ตามมาตรา 77/1(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น กล่าวคือเมื่อมีการส่งมอบและตรวจรับระบบส่งไฟฟ้าใหม่จาก กฟฝ. ตามสัญญา รวมทั้งมีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีและส่งมอบใบกำกับภาษีให้กฟฝ. ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีภาษีซื้อค่าอุปกรณ์ และค่าก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่ บริษัทฯ จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ในการก่อสร้างระบบดังกล่าว ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริงเข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการ ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าใหม่ ตามข้อเท็จจริงการที่บริษัทฯ ได้ก่อสร้างและได้โอนหรือส่งมอบระบบส่งไฟฟ้าใหม่ดังกล่าว ให้แก่การไฟฟ้าภายหลังนั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายการได้
เลขตู้ : 61/27247


ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 535
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores