ประกาศแล้ว!!! กฎหมาย Transfer Pricing

ประกาศแล้ว!!! กฎหมาย Transfer Pricing


              ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 400) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปรับปรุงรายได้และรายจ่าย ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน อาศัยอ านาจตามความในข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 369 (พ.ศ. 2563) โดยสรุปดังนี้

Transfer Pricing หมายถึง การที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันทำธุรกรรมระหว่างกันแตกต่างจากที่ควรกำหนดหากเป็นคู่ค้าอิสระ ในลักษณะถ่ายโอนกำไร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นกรณีการกำหนดราคาซื้อขายสินค้า หรือให้บริการที่แตกต่างไปจากราคาตลาดนั่นเอง

1. คำนิยามของธุรกรรมที่ถูกควบคุมและธุรกรรมที่ไม่ถูกควบคุมดังนี้

     “ธุรกรรมที่ถูกควบคุม” หมายถึง ธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน

     “ธุรกรรมที่ไม่ถูกควบคุม” หมายถึง ธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่คู่สัญญาของธุรกรรมนั้น ไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน

     “ผลตอบแทนสำหรับธุรกรรม” หมายความรวมถึง ตัวชี้วัดทางการเงินซึ่งสัมพันธ์กับวิธีการกำหนดราคาที่เลือกใช้ ดังต่อไปนี้ หรือตัวชี้วัดทางการเงินอื่นที่เหมาะสมซึ่งสัมพันธ์กับวิธีการกำหนดราคาอื่นแล้วแต่กรณี

     (1) ราคา สำหรับวิธีการเปรียบเทียบราคาที่มิได้ถูกควบคุม
     (2) อัตรากำไรจากการขายต่อ สำหรับวิธีราคาขายต่อ
     (3) อัตรากำไรส่วนเพิ่มจากต้นทุน สำหรับวิธีราคาทุนบวกกำไรส่วนเพิ่ม
     (4) อัตรากำไรสุทธิ สำหรับวิธีอัตรากำไรสุทธิที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกรรม
     (5) ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงาน สำหรับวิธีแบ่งสรรกำไรของธุรกรรม

2. อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

     บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีข้อตกลงทางพาณิชย์หรือการเงินระหว่างกัน ในลักษณะที่เชื่อได้ว่ามีการถ่ายโอนกำไร อันทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรายหนึ่งรายใดไม่ได้รับหรือได้รับกำไรหรือเงินได้พึงประเมินที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ เช่น กรณีถ้าคำนวณช่วงของผลตอบแทนที่พึงได้รับหากได้ดำเนินการโดยอิสระมาเทียบเคียงกับตัวชี้วัดทางการเงินที่ถูกตรวจสอบด้วยวิธีกำหนดราคาแล้วปรากฏว่า ตัวชี้วัดทางการเงินนั้นอยู่นอกช่วงของผลตอบแทนที่พึงได้รับหากได้ดำเนินการโดยอิสระ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินปรับปรุงรายได้และรายจ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับธุรกรรมที่ถูกควบคุม เพื่อปรับปรุงให้ตัวชี้วัดทางการเงินดังกล่าวสามารถสะท้อนสถานการณ์ของกรณีได้ดีที่สุดและอยู่ภายในช่วงของผลตอบแทนที่พึงได้รับ หากได้ดำเนินการโดยอิสระ

3.วิธีการกำหนดราคาที่ได้รับการรับรองแล้ว

     ในการพิจารณาว่าผลตอบแทนสำหรับธุรกรรมที่ถูกควบคุมเป็นผลตอบแทนสำหรับธุรกรรมที่พึงกำหนดหากได้ดำเนินการโดยอิสระ ให้พิจารณาเลือกใช้วิธีการกำหนดราคาที่ได้รับรองแล้ว และเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์ในแต่ละกรณี โดยวิธีการกำหนดราคาที่ได้รับการรับรองแล้วมี 5 วิธีการ ได้แก่

     (1) วิธีการเปรียบเทียบราคาที่มิได้ถูกควบคุม (Comparable Uncontrolled Price Method) โดยการเทียบเคียงระหว่างราคาที่เรียกเก็บจากการโอนทรัพย์สินหรือการให้บริการสำหรับธุรกรรมที่ถูกควบคุมกับราคาที่เรียกเก็บจากการโอนทรัพย์สินหรือการให้บริการสำหรับธุรกรรมที่ไม่ถูกควบคุมอันอาจเทียบเคียงกันได้

     (2) วิธีราคาขายต่อ (Resale Price Method) โดยการเทียบเคียงระหว่างอัตรากำไรจากการขายต่อ ซึ่งผู้ซื้อทรัพย์สินผ่านธุรกรรมที่ถูกควบคุมได้รับจากการนำทรัพย์สินนั้นไปขายต่อผ่านธุรกรรมที่ไม่ถูกควบคุมกับอัตรากำไรจากการขายต่อซึ่งได้รับจากการซื้อมาและขายต่อทรัพย์สินผ่านธุรกรรมที่ไม่ถูกควบคุมอันอาจเทียบเคียงกันได้

     (3) วิธีราคาทุนบวกกำไรส่วนเพิ่ม (Cost Plus Method) โดยการเทียบเคียงระหว่างอัตรากำไรส่วนเพิ่มจากต้นทุน ซึ่งรวมทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อมในการโอนทรัพย์สินและให้บริการส าหรับธุรกรรมที่ถูกควบคุมกับอัตรากำไรส่วนเพิ่มจากต้นทุนซึ่งรวมทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อมในการโอนทรัพย์สินและให้บริการสำหรับธุรกรรมที่ไม่ถูกควบคุมอันอาจเทียบเคียงกันได้

     (4) วิธีอัตรากำไรสุทธิที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกรรม (Transaction Profit Split Method) โดยการเทียบเคียงระหว่างอัตรากำไรสุทธิที่สัมพันธ์กับฐานที่เหมาะสม (เช่น ต้นทุน ยอดขาย หรือสินทรัพย์ เป็นต้น) ซึ่งเป็นผลจากการทำธุรกรรมที่ถูกควบคุม กับอัตรากำไรสุทธิที่สัมพันธ์กับฐานเดียวกันนั้นซึ่งเป็นผลจากการทำธุรกรรมที่ไม่ถูกควบคุม

(5) วิธีแบ่งสรรกำไรของธุรกรรม (Transactional Profit Split Method) โดยการปันส่วนผลกำไร (หรือขาดทุน) ที่ได้รับจากธุรกรรมที่ถูกควบคุม ให้เป็นไปตามส่วนที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแต่ละรายได้มีส่วนร่วมดำเนินการในธุรกรรมที่ถูกควบคุมนั้นเพื่อให้แต่ละบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้รับส่วนแบ่งตามส่วนที่พึงคาดหมายว่าจะได้รับหากได้มีส่วนร่วมดำเนินการในธุรกรรมที่ไม่ถูกควบคุมอันอาจเทียบเคียงกันได้เว้นแต่ในกรณีที่สามารถนำวิธีการกำหนดราคาวิธีการใดวิธีการหนึ่งตาม (1) ถึง (4) มาปรับใช้ เพื่อหาจำนวนกำไรหรือเงินได้พึงประเมินบางส่วนที่คู่สัญญาที่เป็นอิสระพึงได้รับสำหรับการปฏิบัติหน้าที่งานที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่ถูกควบคุมนั้นได้ ให้นำวิธีแบ่งสรรกำไรของธุรกรรมมาปรับใช้เฉพาะกับส่วนของกำไรที่คงเหลืออยู่หลังจากหักจำนวนกำไรหรือเงินได้พึงประเมินที่ได้จากการปรับใช้วิธีการกำหนดราคาตาม (1) ถึง (4) แล้ว

     ทั้งนี้ ในการพิจาณาเลือกใช้วิธีการกำหนดราคาที่เหมาะสมที่สุดดังกล่าวข้างต้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ ประกอบด้วย

     (1) จุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละวิธีการกำหนดราคา
     (2) ความเหมาะสมของวิธีการกำหนดราคาตามลักษณะของธุรกรรมที่ถูกควบคุมผ่านการวิเคราะห์หน้าที่งานของคู่สัญญาแต่ละรายในธุรกรรมที่ถูกควบคุมนั้นโดยคำนึงถึงสินทรัพย์ที่ใช้และความเสี่ยงที่รับ
     (3) ความมีอยู่ของข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่จำเป็นในการปรับใช้วิธีการกำหนดราคาที่เลือกใช้
     (4) ระดับความสามารถในการเทียบเคียงกันได้ระหว่างธุรกรรมที่ถูกควบคุมและธุรกรรมที่ไม่ถูกควบคุม รวมถึงความน่าเชื่อถือของการปรับปรุงความสามารถในการเทียบเคียงกัน

     อย่างไรก็ดี หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรายใด จะเลือกใช้วิธีการกำหนดราคาแบบอื่น ก็สามารถทำได้เฉพาะในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่า ไม่สามารถปรับใช้วิธีกำหนดราคาที่ได้รับการรับรองแล้ว ทั้งนี้ จะต้องแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเป็นหนังสือ และอธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีการกำหนดราคานั้น ภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการปรับใช้วิธีการกำหนดราคาอื่น พร้อมทั้งจัดเตรียมเอกสาร / หลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่ออธิบายถึงเหตุที่ไม่สามารถปรับใช้วิธีการกำหนดราคาที่ได้รับการรับรองแล้วกับธุรกรรมที่ถูกควบคุมได้และคำอธิบายเกี่ยวกับวิธีการกำหนดราคาอื่นที่ปรับใช้นั้นโดยละเอียดพร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

4. ค่าตอบแทนที่พึงกำหนดหากได้ดำเนินการโดยอิสระ กรณีธุรกรรมที่ถูกควบคุมเป็นการบริการ

     ในกรณีที่ธุรกรรมที่ถูกควบคุมเป็นการบริการจะถือว่าค่าตอบแทนสำหรับการบริการดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนที่พึงกำหนดหากได้ดำเนินการโดยอิสระต่อเมื่อ
     (1) เป็นค่าตอบแทนสำหรับการบริการที่ได้กระทำจริง
     (2) บริการนั้นมีประโยชน์หรือพึงคาดหมายได้ว่าจะมีประโยชน์เชิงเศรษฐกิจหรือในทางการค้าแก่ผู้รับบริการ
     (3) เป็นบริการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นอิสระภายใต้สถานการณ์ที่อาจเทียบเคียงกันได้พึงจ่ายค่าตอบแทนเพื่อให้ได้รับบริการนั้นจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน หรือเพื่อให้มีการทำบริการนั้นโดยหน่วยงานภายในของตนเอง และ
     (4) จำนวนค่าตอบแทนเป็นจำนวนที่พึงกำหนดหากได้ดำเนินการโดยอิสระสำหรับการบริการที่อาจเทียบเคียงกันได้

5. ค่าตอบแทนที่พึงกำหนดหากได้ดำเนินการโดยอิสระ กรณีธุรกรรมที่ถูกควบคุมเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินไม่มีตัวตน

     (1) กรณีเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์ในทรัพย์สินไม่มีตัวตน ให้คำนึงถึงสินทรัพย์ที่ใช้และความเสี่ยงที่ได้รับ ในหน้าที่งานที่คู่สัญญาแต่ละรายรับผิดชอบ ที่เกี่ยวกับการพัฒนา ปรับปรุง การบำรุงรักษา การคุ้มครอง และการแสวงหาประโยชน์ในทรัพย์สินไม่มีตัวตนนั้น

     (2) กรณีเกี่ยวกับการให้สิทธิการใช้ ขาย หรือโอนทรัพย์สินไม่มีตัวตน ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ คุณลักษณะที่เฉพาะตัวหรือไม่เฉพาะตัว และสิทธิการมีส่วนร่วมพัฒนาในทรัพย์สินไม่มีตัวตน

6. ข้อตกลงการกำหนดราคาเป็นการล่วงหน้า

     บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมีการทำธุรกรรมด้านการพาณิชย์หรือการเงินกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ สามารถร้องขอให้มีการจัดทำข้อตกลงการกำหนดราคาเป็นการล่วงหน้า เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการหาผลตอบแทน สำหรับธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันที่จะมีขึ้นภายในช่วงเวลาในอนาคตที่ได้ตกลงกันไว้

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด



ขอบคุณบทความจาก :: https://www.rd.go.th หรือ Click  
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com


 4118
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์