เลขที่หนังสือ ค 0706/1349 ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชำระหนี้ด้วยตั๋ว DPN (Deferred Payment Note)

เลขที่หนังสือ ค 0706/1349 ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชำระหนี้ด้วยตั๋ว DPN (Deferred Payment Note)

เลขที่หนังสือ : กค 0706/1349
วันที่ : ลว. 17 กุมภาพันธ์ 2549
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชำระหนี้ด้วยตั๋ว DPN (Deferred Payment Note)
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 มาตรา 65 ตรี และมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ : บริษัท ก. ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีข้อเท็จจริงในการประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้
1. บริษัทฯ ได้รับจ้างติดตั้งและวางระบบโทรศัพท์จาก A โดยในการรับจ้างดังกล่าว บริษัทฯจะเป็นผู้ทำงานที่จ้างเองส่วนหนึ่ง และบางส่วนบริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาช่วง ให้ดำเนินงานต่ออีกหลายบริษัท
2. บริษัทฯ ได้มีการบันทึกบัญชีและการรับรู้รายได้ รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์สิทธิ แต่ในส่วนของการชำระหนี้ เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่ได้รับชำระหนี้ บริษัทฯ จึงได้บันทึกลูกหนี้การค้าจากรายได้ที่ A จะต้องจ่ายให้แก่บริษัทฯ และบันทึกเจ้าหนี้การค้าจากการที่บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าบริการให้แก่บริษัทผู้รับเหมาช่วง
3. ต่อมา A ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับบริษัทฯ โดยสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้กำหนดให้ A ชำระหนี้เป็นเงินร้อยละ 40 ของหนี้ทั้งหมด และส่วนที่เหลือร้อยละ 60 ของหนี้ทั้งหมดให้ชำระหนี้เป็นเอกสารการผ่อนชำระหนี้ (Deferred Payment Note หรือตั๋ว DPN) และเมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ ได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทผู้รับเหมาช่วงเป็นเงินร้อยละ 40 ของหนี้ทั้งหมดและส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 60 ของหนี้ทั้งหมดได้ชำระหนี้ด้วยการโอนสลักหลังตั๋ว DPN
4. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ มีความเห็นว่า
4.1 บริษัทฯ ได้รับจ้างติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์ให้กับ A บริษัทฯ ได้นำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว แ ต่เมื่อบริษัทฯ ยังมิได้รับชำระหนี้ จึงได้บันทึกลูกหนี้ในบัญชีลูกหนี้ ต่อมาเมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้จาก A เป็นเงินและเป็นตั๋ว DPNย่อมถือว่า บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้แล้ว ซึ่งบริษัทฯ ต้องตัดรายการลูกหนี้ออกจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทฯ
4.2 บริษัทฯได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับเหมาช่วง บริษัทฯ ได้นำรายจ่ายดังกล่าวเป็นต้นทุนค่างานมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว แต่เมื่อบริษัทฯ ยังมิได้ชำระหนี้จึงได้บันทึกเจ้าหนี้ในบัญชีเจ้าหนี้ ต่อมาเมื่อบริษัทฯ ได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทผู้รับเหมาช่วงเป็นเงินและเป็นตั๋ว DPN ย่อมถือว่า บริษัทฯ ได้ชำระหนี้แล้ว ซึ่งบริษัทฯ ต้องตัดรายการเจ้าหนี้ออกจากบัญชีเจ้าหนี้ของบริษัทฯ
4.3 กรณีตาม 4.1 และ 4.2 หากบริษัทฯ บันทึกรายการทางบัญชีผิดพลาด โดย บริษัทฯมิได้ ตัดรายการลูกหนี้ เจ้าหนี้ออกจากบัญชีลูกหนี้ เจ้าหนี้ แต่บริษัทฯ ได้นำรายได้และรายจ่ายดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์สิทธิแล้ว เมื่อบริษัทฯได้ชำระหนี้ ให้แก่บริษัทผู้รับเหมาช่วงเป็นเงินและเป็นตั๋ว DPN บริษัทฯ สามารถแก้ไขการบันทึกบัญชีให้ถูกต้องโดยการปรับปรุงรายการบัญชีดังกล่าวให้ถูกต้องได้
5. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีเข้าใจว่า เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ค่าติดตั้งงานดังกล่าวเป็นเงินร้อยละ 40 ของหนี้ทั้งหมด ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระค่าติดตั้งงานดังกล่าว สำหรับส่วนที่เหลือร้อยละ 60 ของหนี้ทั้งหมดที่ชำระหนี้เป็นตั๋ว DPNความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อตั๋ว DPN ถึงกำหนดชำระเงิน แต่หากมีการไถ่ถอนตั๋ว DPN ก่อนถึงกำหนดชำระเงิน ถือว่า บริษัทฯ ได้รับชำระค่าติดตั้งงานแล้ว ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการไถ่ถอนตั๋ว DPN ก่อนถึงกำหนดชำระเงินนั้นด้วย
แนววินิจฉัย : 1. กรณีบริษัทฯ ได้คำนวณรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ครบถ้วนแล้ว แต่บริษัทฯ บันทึกรายการทางบัญชีผิดพลาด โดยบริษัทฯได้รับชำระหนี้จากผู้ว่าจ้างเป็นเงินและเป็นตั๋ว DPN แล้วและได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทผู้รับเหมาช่วงเป็นเงินและเป็นตั๋ว DPN แต่มิได้ตัดรายการลูกหนี้ เจ้าหนี้ดังกล่าวออกจากบัญชีลูกหนี้ เจ้าหนี้ บริษัทฯ สามารถปรับปรุงรายการทางบัญชีให้ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปได้
2. กรณีบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ค่าติดตั้งงานเป็นเงินร้อยละ 40 ของหนี้ทั้งหมด ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่ได้ออกใบกำกับภาษี หรือได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการ ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ตามมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ค่าติดตั้งงานเป็นตั๋ว DPN ร้อยละ 60 ของหนี้ทั้งหมด และเมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ ได้ชำระหนี้ต่อให้แก่บริษัทผู้รับเหมาช่วงด้วยการโอนสลักหลังตั๋ว DPN ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อตั๋ว DPN ถึงกำหนดชำระ ซึ่งถือว่าบริษัทฯ ได้รับชำระค่าติดตั้งงานแล้ว เว้นแต่กรณีที่ได้ออกใบกำกับภาษี หรือได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการ ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ตามมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างไรก็ดี หากมีกรณีการไถ่ถอนตั๋ว DPN ก่อนถึงกำหนดชำระเงิน ถือว่า บริษัทฯ ได้รับชำระค่าติดตั้งงานแล้ว ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการไถ่ถอนตั๋ว DPN ก่อนถึงกำหนดชำระเงินนั้นด้วย
เลขตู้ : 69/33893

ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 437
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์