เลขที่หนังสือ | : กค 0706/8514 |
วันที่ | : 14 ตุลาคม 2548 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจัดเก็บค่าน้ำประปาและค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะมูลฝอยและการออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 81(1)(ถ) มาตรา 86/4 พระราชบัญญัติเทศบาล พระราชบัญญัติสาธารณสุข |
ข้อหารือ | : กรณีการจัดเก็บค่าน้ำประปาและค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะมูลฝอยและการออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ราย สำนักงานเทศบาล โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่าสำนักงานเทศบาลฯ จัดทำโครงการจัดเก็บค่าน้ำประปารวมกับค่าธรรมเนียมจัดเก็บ ขยะมูลฝอย เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ ค่าน้ำประปาที่สำนักงานเทศบาลฯจัดเก็บต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากเป็นรายได้ของสำนักงานเทศบาลฯ ที่เป็นเทศพาณิชย์ ซึ่งสำนักงานเทศบาลฯ ได้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ปรากฏใน ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ส่วนค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะมูลฝอยเป็นการให้บริการที่เป็นหน้าที่ของเทศบาล โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องเสียค่าธรรมเนียมตามเทศบัญญัติของเทศบาลนคร การจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว สำนักงานเทศบาลฯ มีความเห็นว่า ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงหารือว่า 1. ค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะมูลฝอยไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มใช่หรือไม่ 2. ใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นใบกำกับภาษีที่รวมค่าน้ำประปาและค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะมูลฝอยตามตัวอย่างที่แนบมาประกอบการพิจารณาใช้ได้หรือไม่ ต่อมาสำนักงานเทศบาลฯ มีหนังสือถึงกรมสรรพากรขออนุมัติใช้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับ ภาษีที่ได้จัดพิมพ์ไว้แล้วจำนวน 167,636 ฉบับ ตามตัวอย่างที่ได้ส่งมาให้พิจารณาหากต้องแก้ไขรายละเอียดในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีจะขอแก้ไขให้ถูกต้องในคราวต่อไป |
แนววินิจฉัย | : 1. การจัดเก็บขยะมูลฝอยเป็นหน้าที่ของเทศบาลตามมาตรา 50 และมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ประกอบกับมาตรา 18 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งบัญญัติให้การกำจัด สิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในเขตราชการส่วนท้องถิ่นใดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น และห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับค่าตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้น การจัดเก็บขยะมูลฝอยจึงเป็นการให้บริการสาธารณะ และเป็นกิจการที่ราชการส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการเพื่อการสาธารณสุข โดยไม่แสวงหากำไรตามมาตรา 20(4) แห่งพระราชบัญญัติการ สาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งบัญญัติให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่นในการเก็บขยะและขนส่งปฏิกูล หรือมูลฝอยไม่เกินอัตราตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น การจัดเก็บขยะมูลฝอยจึงเป็นการให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่นที่มิใช่การพาณิชย์ จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ถ) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีสำนักงานเทศบาลฯ ออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บค่าน้ำประปาและค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะมูลฝอยรวมไว้ในฉบับเดียวกันนั้น สำนักงานเทศบาลฯ สามารถออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดย ระบุชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ มูลค่าสินค้าหรือบริการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ในฉบับเดียวกัน โดยต้องแสดงรหัสหรือเครื่องหมายที่แสดงความแตกต่างระหว่างรายการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและรายการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้ชัดเจน ตามข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 25423. สำหรับรูปแบบของใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีที่รวมค่าน้ำประปาและค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะมูลฝอยอยู่ในฉบับเดียวกันที่สำนักงานเทศบาลฯ ขอให้ พิจารณานั้น เห็นว่า ได้มีการแยกรายการที่แสดงให้เห็นชัดเจนระหว่างรายการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว ส่วนรายการในใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีมีรายการครบถ้วนทุกรายการ แต่บางรายการใช้ ถ้อยคำไม่ถูกต้องชัดเจนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร และระบุมาตราที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง จึงขอให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง 2รายการ ดังนี้ 3.1 รายการที่ต้องกำหนดไว้ในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4(4) แห่งประมวลรัษฎากร คือ หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี แต่ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีของสำนักงานเทศบาลฯ ระบุเฉพาะเลขที่ เล่มที่ใบเสร็จรับเงินเท่านั้น ถ้าใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีใช้เลขที่เดียวกันให้ใช้เลขที่ .. เล่มที่ 3.2 ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีของสำนักงานเทศบาลฯ ข้อความในส่วนของหมายเหตุระบุว่า ค่าเก็บขยะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา81/3(3) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ ค่าเก็บขยะได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ถ) แห่งประมวลรัษฎากรกรณีที่สำนักงานเทศบาลฯ ขอผ่อนผันใช้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีตามตัวอย่างที่ส่งไปให้พิจารณาซึ่งได้จัดพิมพ์ไว้แล้วเป็นจำนวน 167,636 ฉบับ และจะ ขอแก้ไขรายละเอียดให้ถูกต้องในคราวต่อไปนั้น ให้สำนักงานเทศบาลฯ ใช้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีที่พิมพ์ไว้แล้วได้ เนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความและรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้แก้ไข ข้อความในส่วนหมายเหตุให้ถูกต้องว่า ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา81(1)(ถ) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อสำนักงานเทศบาลฯ จัดพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีในคราวต่อไปขอให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องด้วย |
เลขตู้ | : 68/33611 |