เลขที่หนังสือ กค 0706(กม.01)/868 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับโครงสร้างหนี้

เลขที่หนังสือ กค 0706(กม.01)/868 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับโครงสร้างหนี้

เลขที่หนังสือ : กค 0706(กม.01)/868
วันที่ : 29 กันยายน 2548
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับโครงสร้างหนี้
ข้อกฎหมาย : พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547
ข้อหารือ : บริษัท ก. จำกัด หารือว่าบริษัทฯ เป็นหนี้ธนาคาร ข. จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นเงิน 200,000,000.00 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นแก่ธนาคารฯ
เนื่องจากบริษัทฯ ประสบปัญหาทางการเงิน อันเป็นผลกระทบมาจากสภาวะเศรษฐกิจ จึงเป็นเหตุให้บริษัทฯ ไม่สามารถชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ บริษัทฯ และธนาคารฯ จึงตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยบริษัทฯ ตกลงจะชำระหนี้ให้ธนาคารฯ เป็นเงิน 110,200,000.00 บาท และธนาคารฯ จะนำเงินดังกล่าวไปตัดชำระหนี้เงินต้นตามคำพิพากษา และบริษัทฯ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าธรรมเนียมศาล และค่าทนายความ รวมเป็นเงิน 473,500.00 บาท สำหรับเงินต้นส่วนที่เหลือกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตามคำพิพากษา และที่บริษัทฯ ค้างชำระทั้งหมด บริษัทฯ ขอให้ธนาคารฯ ปลดหนี้ให้ บริษัทฯ ได้ชำระหนี้ในจำนวนที่ตกลงกัน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2547 และธนาคารฯ ได้แจ้งการปลดหนี้ให้แก่บริษัทฯ
บริษัทฯ ต้องการที่จะให้การชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้น เข้าลักษณะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จึงขอให้ธนาคารฯ ออกหนังสือสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่บริษัทฯ แต่ธนาคารฯ แจ้งว่า ไม่สามารถออกหนังสือสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามวันที่ย้อนหลังให้ได้ แต่จะออกเป็นหนังสือรับรองการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ย้อนหลังให้แก่บริษัทฯ ตามหนังสือรับรองการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2548 (เอกสารแนบ 3)
บริษัทฯ ขอหารือว่า การที่ธนาคารฯ ออกหนังสือรับรองการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2548 ซึ่งเป็นการรับรองการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ได้กระทำเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2547 จะผิดหลักเกณฑ์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรของกรมสรรพากรหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย : 1. ตามมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547 เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินนั้นได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะการปลดหนี้ที่ได้กระทำในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2547 กรณีดังกล่าวเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินกรณีที่สถาบันการเงินได้มีการปลดหนี้เป็นตัวเงินให้แก่ลูกหนี้กล่าวคือ ลูกหนี้ชำระหนี้เป็นเงินสดเพียงบางส่วน ซึ่งมิใช่กรณีลูกหนี้ชำระหนี้โดยการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการให้บริการ และการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องมีการยืนยันว่าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด จึงต้องแสดงหลักฐานหนังสือรับรองการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สำเนาภาพถ่ายหลักฐานการให้สินเชื่อ และสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่กรณีการชำระหนี้ด้วยเงินสดไม่จำต้องมีหนังสือรับรองการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือเอกสารอื่น ๆ แต่อย่างใด
2. หากเจ้าหนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฯ กรณีผู้ตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่า การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายใดอาจมีเจตนาเพื่อชะลอปัญหาการจัดชั้นสินทรัพย์ และการกันเงินสำรอง หรือหลีกเลี่ยงการรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ รวมทั้งมิได้มีการจัดทำเอกสารและการวิเคราะห์ฐานะและความสามารถในการชำระหนี้อย่างถูกต้อง หรือเป็นที่เล็งเห็นได้โดยชัดเจนว่า ลูกหนี้จะไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้หรือมีการดำเนินการใด ๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดขึ้น ผู้ตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย อาจพิจารณาสั่งการให้สถาบันการเงินเปลี่ยนสถานะการจัดชั้นของลูกหนี้รายนั้น และให้กันเงินสำรองให้เพียงพอ หรือสั่งการให้ระงับการรับรู้รายได้ รวมทั้งให้ยกเลิกการบันทึกรายการดอกเบี้ยค้างรับที่บันทึกบัญชีไปแล้วด้วยก็ได้
3. ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารฯ สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลพร้อมกับเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในขณะเดียวกันก็ได้ ไม่ได้มีการกำหนดว่า ธนาคารฯ จะต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เมื่อใด ธนาคารฯ สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลพร้อมกับเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในขณะเดียวกันก็ได้ ดังนั้น มติคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ของธนาคารฯ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 จึงถือได้ว่าธนาคารฯ และบริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดแล้ว บริษัทฯ จึงได้รับสิทธิทางภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547 และธนาคารฯ มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญได้ตามข้อ 6 ทวิ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 243 (พ.ศ. 2547)ฯ
เลขตู้ : 68/33595

ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 553
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์