• หน้าแรก

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0706/392 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มี การใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร

เลขที่หนังสือ กค 0706/392 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มี การใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร

  • หน้าแรก

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0706/392 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มี การใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร

เลขที่หนังสือ กค 0706/392 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มี การใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร

เลขที่หนังสือ : กค 0706/392
วันที่ : 17 มกราคม 2548
เรื่อง : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มี การใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
ประเด็นปัญหา : มาตรา 70 มาตรา 77/2 มาตรา 82 มาตรา 83/6(2) มาตรา 79 มาตรา 89(2) มาตรา 89/1 มาตรา 77/1(8)(ค) มาตรา 86/14 มาตรา 82/3
            บริษัทฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการ ให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้
          1. บริษัทฯ ประกอบกิจการซ่อมอากาศยานของส่วนราชการต่าง ๆ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2546 และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประเภท 4.7 กิจการผลิตหรือซ่อมอากาศยานรวมทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานหรือเครื่องใช้บนอากาศยาน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2547 เป็นระยะเวลา 8 ปี บริษัทฯ เริ่มมีรายรับจากการให้บริการซ่อมอากาศยานเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2547 และได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 จนถึงปัจจุบัน
          2. กรณีบริษัทฯ ให้บริการซ่อมอากาศยาน เมื่อบริษัทฯ ตรวจพบว่า ชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานชิ้นใดมีสภาพความเสียหายเกินขีดความสามารถของบริษัทฯ และไม่สามารถซ่อมภายในประเทศได้ บริษัทฯ จะส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานดังกล่าวไปซ่อมในต่างประเทศ โดยตกลงชำระเงินค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศด้วยเงินสกุลต่างประเทศเต็มจำนวนที่เรียกเก็บตามใบแจ้งหนี้ (Invoice) โดยไม่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และไม่ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ เข้าใจว่า สินค้าที่ส่งไปซ่อมในต่างประเทศ และนำกลับเข้ามาในประเทศไทยดังกล่าว เป็นสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
               3.1 บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับค่าบริการที่จ่ายให้แก่ ผู้ประกอบการในต่างประเทศ ซึ่งมิได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยและไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย หรือไม่ อย่างไร
               3.2 บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจ่ายเงินค่าบริการ ให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ หรือไม่ และเนื่องจากบริษัทฯ ตกลงให้ผู้ประกอบการใน ต่างประเทศเป็นผู้จัดซื้อและทดรองจ่ายเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการซ่อมชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานทั้งหมด โดยผู้ประกอบการในต่างประเทศจะออกใบเสนอราคา (Proforma Invoice) เรียกเก็บเงินค่าบริการโดยแยกรายการค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงให้กับบริษัทฯ กรณีดังกล่าว บริษัทฯ เข้าใจว่า หากบริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจ่ายค่าบริการ บริษัทฯ ต้องนำค่าแรง ไม่รวมค่าวัสดุปกรณ์ มาใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
               3.3 เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่เคยนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการใน ต่างประเทศมีหน้าที่ต้องเสีย หากบริษัทฯ จะนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวย้อนหลังในปี 2547 เริ่มตั้งแต่เดือนภาษีมิถุนายน 2547 และนำไปชำระภายในวันที่ 7 ของเดือนมกราคม 2548 บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อทั้งจำนวนไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป (เดือนกุมภาพันธ์) ได้หรือไม่ อย่างไร
               3.4 เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว และการที่บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจให้บริการซ่อมอากาศยานให้แก่ ก. ตามมติคณะรัฐมนตรี ทำให้บริษัทฯ ต้องซ่อมอากาศยานให้ทันตามกำหนดเวลาเพื่อนำไปปฏิบัติภารกิจสำคัญของ ก. จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังนั้น หากบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจ่ายค่าจ้างซ่อมไปต่างประเทศ บริษัทฯ ขอให้กรมสรรพากรพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 มาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ดังความละเอียดแจ้งอยู่แล้ว นั้น
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ ส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานไปซ่อมในต่างประเทศ และเมื่อซ่อม เสร็จแล้ว ผู้ประกอบการในต่างประเทศจะส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ดังกล่าวกลับเข้ามายังประเทศไทยเพื่อให้บริษัทฯ นำไปใช้งานต่อไป โดยบริษัทฯ จะชำระเงินค่าบริการดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการใน ต่างประเทศโดยตรง บริษัทฯ มีภาระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
          1. กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากผู้รับจ้างซ่อมชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยาน เป็นผู้ประกอบการในต่างประเทศ ซึ่งมิได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย และไม่มีลูกจ้างหรือ ผู้กระทำการแทนหรือผู้กระทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ผู้ประกอบการใน ต่างประเทศจึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้ประกอบการในต่างประเทศไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด และโดยที่ค่าตอบแทนจากการรับจ้างซ่อมชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องนำส่งภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากบริษัทฯ ส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานไปซ่อมใน ต่างประเทศ และเมื่อซ่อมเสร็จแล้ว ผู้ประกอบการในต่างประเทศจะส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทยเพื่อให้บริษัทฯ นำไปใช้งานต่อไป กรณีดังกล่าวถือเป็นการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการในต่างประเทศจึงเป็นผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการขายสินค้าหรือ ให้บริการตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินค่าบริการ จึงมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศมีหน้าที่ต้องเสียตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องยื่นแบบนำส่งภาษี มูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้ให้แก่ ผู้ประกอบการในต่างประเทศตามมาตรา 83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่ง ภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 และ เนื่องจากการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในต่างประเทศเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับจ้างซ่อม ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องนำค่าจ้างซ่อม (ค่าแรง) และค่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ ไม่ว่าจะคิดค่าบริการซ่อมเป็นการเหมาหรือแยกค่าบริการเป็นค่าชิ้นส่วนอุปกรณ์และค่าจ้างซ่อมมารวมเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีบริษัทฯ ส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานไปซ่อมในต่างประเทศ และนำกลับเข้ามาในประเทศไทย โดยบริษัทฯ มิได้นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศมีหน้าที่ต้องเสียภาษีภายในกำหนดเวลาตาม 2. บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับสองเท่าของ เงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในแต่ละเดือนภาษี ตามมาตรา 89(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด แต่มีหน้าที่ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือ นำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
          อย่างไรก็ดี เนื่องจากบริษัทฯ เข้าใจว่า ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่นำเข้าดังกล่าวเป็น สินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ไม่ได้คำนึงว่าการจ่ายเงินสำหรับการซ่อมชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเมื่อบริษัทฯ ทราบว่า บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษี มูลค่าเพิ่มดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ ก็ประสงค์จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ได้มีเจตนาจะหลีกเลี่ยง การเสียภาษี อีกทั้งบริษัทฯ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการซ่อมอากาศยานของส่วนราชการต่าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี จึงต้องซ่อมอากาศยานให้ทันตามกำหนดระยะเวลาเพื่อนำไปปฏิบัติภารกิจสำคัญ ของส่วนราชการ กรณีถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร จึงอนุมัติให้ขยายเวลาการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ไปจนถึงวันที่ 28 มกราคม 2548 โดยบริษัทฯ ยังคงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนถึงวันนำส่งภาษี ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
          4. กรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินค่าบริการ จะยื่นแบบ ภ.พ.36 เพิ่มเติมสำหรับเดือนภาษีมิถุนายน 2547 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2547 ในเดือนภาษีมกราคม 2548 เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่บริษัทฯ นำส่งถือเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ตามมาตรา 77/1(18)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และ ใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้สำหรับการรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งดังกล่าว ถือเป็นใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำส่งในเดือนภาษีมกราคม 2548 ทั้งจำนวน มาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ในเดือนภาษีมกราคม 2548 ที่ต้องยื่นภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 ได้
เลขตู้ : 68/33277

ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 729
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์