เลขที่หนังสือ กค 0706/11057 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญสำหรับลูกหนี้ที่อยู่ในต่างประเทศ

เลขที่หนังสือ กค 0706/11057 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญสำหรับลูกหนี้ที่อยู่ในต่างประเทศ

เลขที่หนังสือ : กค 0706/11057
วันที่ : 15 ธันวาคม 2547
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญสำหรับลูกหนี้ที่อยู่ในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ(9)
ข้อหารือ : บริษัท ท. จำกัด จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการเกี่ยวกับโทรคมนาคมและมีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเงินด้วย ได้จัดตั้ง บริษัท อ. จำกัด ขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ (บริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัทย่อย 100%) มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ฮ่องกง บริษัทย่อยได้กู้ยืมเงินจากบริษัทฯ เพื่อการลงทุนในหุ้นของบริษัทฯ ที่จดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ณ ปัจจุบันบริษัทย่อยดังกล่าวประสบผลขาดทุนติดต่อกันจนไม่สามารถชำระดอกเบี้ย และหนี้
เงินกู้ดังกล่าวให้กับบริษัทฯ ได้ ขณะที่บริษัทฯ ยังคงรับรู้รายได้ดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันโดยนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตลอดมา จึงหารือว่า1. ในกรณีที่บริษัทย่อยตกเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ที่คงค้างให้กับบริษัทฯ และได้มีการดำเนินการแบ่งทรัพย์สินของบริษัทย่อยครั้งแรกแล้ว จึงถือว่าบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการตัดจำหน่ายหนี้สูญตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ ครบถ้วนแล้ว จะทำให้บริษัทฯ สามารถตัดจำหน่ายหนี้สูญสำหรับหนี้ที่ให้บริษัทย่อยกู้ยืมดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทย่อยตกเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายต่างประเทศ ถูกต้องหรือไม่2. บริษัทฯ สามารถนำลูกหนี้ที่เกิดจากดอกเบี้ยค้างรับของบริษัทย่อย ที่ไม่ได้ชำระคืนให้กับบริษัทฯ มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่
แนววินิจฉัย : 1. การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ในกรณีหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 500,000บาทขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ของลูกหนี้ในประเทศหรือต่างประเทศ จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ดังนั้น ในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้เจ้าหนี้จึงไม่อาจใช้คำพิพากษา คำบังคับ หรือคำสั่งของศาลต่างประเทศเป็นเอกสารหลักฐานในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ตามข้อ 4(2) และ (3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯได้แต่อย่างใดกรณีที่บริษัทฯ จะดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ในกรณีที่หนี้มีจำนวนเกิน 500,000บาท โดยได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ต่างประเทศเป็นคดีแพ่งในศาลไทย และในกรณีนั้น ๆ ได้มีคำบังคับหรือคำสั่งของศาลแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้ บริษัทฯ ย่อมจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้และถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4(2) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ
2. กรณีลูกหนี้ที่เกิดจากดอกเบี้ยค้างรับของบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ยังไม่ได้รับชำระ แต่บริษัทฯได้รับรู้รายได้ไปแล้ว หากได้ดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญตาม 2. แล้ว บริษัทฯ มีสิทธินำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ : 67 33229

ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 661
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์