เลขที่หนังสือ กค 0706(กม.03)/825 ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการรับซื้อลดตราสารหนี้

เลขที่หนังสือ กค 0706(กม.03)/825 ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการรับซื้อลดตราสารหนี้

เลขที่หนังสือ : กค 0706(กม.03)/825
วันที่ : 28 กันยายน 2547
เรื่อง : ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการรับซื้อลดตราสารหนี้
ข้อกฎหมาย : มาตรา 91/8
ข้อหารือ : บริษัท ท. ประกอบกิจการธุรกิจประกันชีวิต บันทึกบัญชีรับรู้รายได้โดยใช้เกณฑ์สิทธิ(Accrual Basis) แต่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะโดยใช้เกณฑ์เงินสด (Cash Basis) และบันทึกบัญชีเงินลงทุนในตราสารหนี้ตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 40 บริษัทฯ มีปัญหาเกี่ยวกับการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีที่บริษัทฯ ซื้อตราสารหนี้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้1. เมื่อวันที่
1 มกราคม 2542 บริษัทฯ ซื้อตราสารหนี้จากการจำหน่ายครั้งแรกในราคาที่ต่ำ
กว่ามูลค่าที่ตราไว้ กล่าวคือ ซื้อตราสารหนี้ซึ่งมีราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ 100,000 บาท ในราคา90,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 8.0 ต่อปี ปีละครั้งทุกวันที่ 31 ธันวาคม อายุตราสาร 5 ปี ซึ่งบริษัทฯ จะทยอยบันทึกบัญชีส่วนต่าง (ส่วนต่ำกว่ามูลค่าตัดจำหน่าย) ที่จะได้รับเมื่อไถ่ถอนจำนวน10,000 บาท ตามมาตรฐานบัญชีฯ นำรวมกับดอกเบี้ยรับประจำปีของตราสารดังกล่าว เป็นรายได้ทุก
สิ้นปีตามอายุตราสาร รวมกับดอกเบี้ยรับประจำปีของตราสาร เช่น ในปีแรก ณ วันที่ 31 ธันวาคม2542 จะบันทึกส่วนต่ำกว่ามูลค่าตัดจำหน่าย จำนวน 1,616 บาท รวมกับดอกเบี้ย จำนวน 8,000 บาทรวมเป็นรายได้จำนวน 9,616 บาท บริษัทฯ ขอหารือว่า
1.1 บริษัทฯ นำรายได้ดังกล่าวเป็นฐานภาษีในการคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ถูกต้องหรือไม่
1.2 กรณีบริษัทฯ ถือตราสารไว้ 3 เดือน จึงขายออกไปในราคา 94,000 บาท บริษัทฯต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากส่วนต่างจำนวน 4,000 บาท หรือเสียจากจำนวน 1,973 บาท ที่บันทึกเป็นดอกเบี้ยรับตามมาตรฐานบัญชีฯ
2. เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2542 บริษัทฯ ซื้อตราสารหนี้จากการจำหน่ายครั้งแรกในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ กล่าวคือ ซื้อตราสารหนี้ซึ่งมีราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ 100,000 บาท ในราคา110,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 12.0 ต่อปี ปีละครั้ง ทุกวันที่ 31 ธันวาคม อายุตราสาร 5 ปี ซึ่งบริษัทฯ จะทยอยบันทึกบัญชีส่วนต่าง (ส่วนเกินกว่ามูลค่าตัดจำหน่าย) ที่จะได้จ่ายซื้อตราสารจำนวน10,000 บาท ตามมาตรฐาน บัญชีฯ นำหักออกจากดอกเบี้ยรับประจำปีของตราสารดังกล่าว เป็นรายได้ทุกสิ้นปีตามอายุตราสาร เช่น ในปีแรก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2542 จะบันทึกส่วนเกินมูลค่าตัดจำหน่ายจำนวน 1,658 บาท หักออกจากดอกเบี้ยรับประจำปีของตราสาร จำนวน 12,000 บาท รวมเป็นรายได้จำนวน 10,342 บาท บริษัทฯ ขอหารือว่า จะต้องนำดอกเบี้ยรับประจำปีจำนวน 12,000 บาทหรือดอกเบี้ยรับหักส่วนเกินมูลค่าจำนวน 10,342 บาท เป็นฐานภาษีในการคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
3. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2543 บริษัทฯ ซื้อตราสารหนี้จากตลาดรองในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ กล่าวคือ ซื้อตราสารหนี้ซึ่งมีราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ 1,000,000 บาท ในราคา 1,217,074บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8.5 ต่อปี จ่ายปีละครั้งวันครบกำหนดไถ่ถอน 8 ธันวาคม 2548 yieldร้อยละ 5.2 ซึ่งในราคาที่ซื้อมามีดอกเบี้ยค้างรับแฝงอยู่ และบริษัทฯ ได้บันทึกดอกเบี้ยค้างรับ ณ วันที่31 ธันวาคม 2543 เป็นจำนวน 1,164 บาท (1,000,000 x 8.5% x 5/365) ตามมาตรฐานบัญชีฯต่อมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2544 บริษัทฯ ได้ขายตราสารดังกล่าวในราคา 1,218,275 บาท yieldร้อยละ 5.2047 และบันทึกดอกเบี้ยรับจำนวน 931 บาท (1,000,000 x 8.5%x 4/365) ตามมาตรฐานบัญชีฯบริษัทฯ หารือว่า จะต้องนำดอกเบี้ยค้างรับ และดอกเบี้ยรับดังกล่าวมารวมเป็นฐานภาษีในการคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย : 1. กรณีบริษัท ท. ซื้อตราสารหนี้จากการจำหน่ายครั้งแรกมาในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอนแยกพิจารณาได้ดังนี้
1.1 บริษัทฯ ต้องนำดอกเบี้ยประจำปีของตราสารจำนวน 8,000 บาท ไปคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ณ วันที่ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าว ตามเกณฑ์เงินสดที่บริษัทฯ เลือกใช้ในครั้งแรก ตามมาตรา 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 กรณีบริษัทฯ ถือตราสารหนี้ดังกล่าวไว้จนครบกำหนดไถ่ถอน บริษัทฯ จะต้องนำส่วนต่างระหว่างราคาซื้อครั้งแรกกับเงินที่ได้รับเมื่อไถ่ถอนจำนวน 10,000 บาท ไปคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ณ วันที่ตราสารหนี้นั้นครบกำหนดไถ่ถอนตามมาตรา 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร
1.3 กรณีบริษัทฯ ถือตราสารหนี้ไว้ 3 เดือน แล้วจึงขายไปในราคา 94,000 บาทบริษัทฯ จะต้องนำกำไรจากการขายตราสารหนี้จำนวน 4,000 บาท ไปคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ในวันที่ขายตราสารหนี้นั้นตาม 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีบริษัทฯ ซื้อตราสารหนี้จากการจำหน่ายครั้งแรกในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ บริษัทฯต้องนำดอกเบี้ยประจำปีของตราสารหนี้ที่ได้รับเต็มจำนวน ไปคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ไม่มีสิทธินำส่วนเกินมูลค่าตัดจำหน่ายมาหักออกก่อนคำนวณภาษี
3. กรณีบริษัทฯ ซื้อตราสารหนี้ในตลาดรองในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ บริษัทฯ จะต้องนำกำไรจากการขายตราสารหนี้จำนวน 1,201 บาท (1,218,275 - 1,217,074) ไปคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ในวันที่ขายตราสารหนี้นั้นตาม 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ต้องนำดอกเบี้ยค้างรับที่บริษัทฯ บันทึกบัญชีรับรู้เป็นรายได้ตามมาตรฐานบัญชีฯ มาคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 31/2538 เรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีฐานภาษีสำหรับรายรับประเภทดอกเบี้ยตามมาตรา 91/5 แห่งประมวลรัษฎากรลงวันที่ 21 กันยายน 2538
เลขตู้ : 67/33153


ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 746
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์