เลขที่หนังสือ กค 0706/8346 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีประกอบกิจการตัวแทนประกันชีวิต

เลขที่หนังสือ กค 0706/8346 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีประกอบกิจการตัวแทนประกันชีวิต

เลขที่หนังสือ : กค 0706/8346
วันที่ : 8 กันยายน 2547
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีประกอบกิจการตัวแทนประกันชีวิต
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(2)
ข้อหารือ : นาย ศ. เป็นตัวแทนการขายประกันชีวิตของบริษัท อ. นาย ศ. ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่ปี 2539 แต่ในปัจจุบัน นาย ศ. มีความประสงค์ที่จะขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนาย ศ. จึงขอทราบเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2545 ดังนี้
1. กรณีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ 2.1(2) ของข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 ฯลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2545 ครบถ้วนแล้ว แต่มีรายได้ไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี จะคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรได้หรือไม่ ซึ่งมาตรา81/1 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดว่าผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่มีรายได้ไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. นาย ศ. ไม่มีสิทธิแจ้งขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมโดยอ้างสาเหตุว่านาย ศ. ค้างชำระภาษีอากร กรณีดังกล่าวมีวิธีใดที่จะขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
แนววินิจฉัย : 1. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใด ๆ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดีกรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีหลักฐานในการประกอบกิจการให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจ และสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการได้ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการตาม 2.1(2)(ก) - (ฉ) ของข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 ฯ ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2545 ค่าตอบแทนที่ได้รับดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากนาย ศ. ซึ่งเป็นตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนของบริษัทประกันชีวิตได้ขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และอธิบดีได้มีคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/10 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ค่าตอบแทนที่ นาย ศ. ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใด ๆ จะเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตาม 2.1(1) ของข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 ฯ ลงวันที่17 กันยายน พ.ศ. 2545
2. กรณี นาย ศ. ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่ปี 2539 ต่อมามีรายได้ไม่เกิน1,200,000 บาทต่อปี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปีก่อนการขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีความประสงค์ที่จะขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็มีสิทธิขอให้อธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 85/10(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ : 67/33125

ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 514
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์