เลขที่หนังสือ | : กค 0706/6632 |
วันที่ | : 14 กรกฎาคม 2547 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการเป็นตัวแทนประกันชีวิต |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(1), มาตรา 40(2), มาตรา 40(8), มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 65 ตรี, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 |
ข้อหารือ | : กรณี นาย ก. ประกอบอาชีพเป็นตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิต ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยเข้าใจว่าค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และได้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 75 มาโดยตลอด โดยมิได้เก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายไว้ ต่อมาได้มีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2545 กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรนาย ก. ไม่สามารถหาหลักฐานค่าใช้จ่ายเพื่อพิสูจน์รายจ่ายได้ และไม่สามารถขอให้ผู้รับเงินออกใบเสร็จรับเงินย้อนหลังได้ในช่วงปีภาษี 2545 จึงขอให้กรมสรรพากรผ่อนผันการชำระภาษีสำหรับปีภาษี2545 และให้ถือว่าการชำระภาษีในปีดังกล่าวถูกต้องแล้ว |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใด ๆ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้อย่างเดียวในอัตราร้อยละ 40 ของค่าตอบแทนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 60,000 บาท และในกรณีที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร จากนายจ้างอื่นด้วย ให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) และมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการเหมาได้อย่างเดียวในอัตราร้อยละ40 ของเงินได้ที่ได้รับ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท2. กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน มีหลักฐานในการประกอบกิจการที่แสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งว่า ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจ และสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการได้ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการดังนี้ (1) ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและ (2) ได้จัดตั้งสำนักงานในการประกอบกิจการโดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือเช่าจากบุคคลอื่นโดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงานและ (3) มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน และ (4) มีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในการประกอบกิจการโดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง ในกรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตาม ภ.ง.ด.1 ก.และ (5) มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรองหรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่องานกับลูกค้า และ (6) มีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนได้รับจากบริษัทประกันชีวิตในการประกอบกิจการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรและในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ซึ่งหากตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่สามารถพิสูจน์รายจ่ายและไม่มีหลักฐานในการประกอบกิจการตามที่กล่าวแล้วข้างต้นมาพิสูจน์ให้เห็นได้ เงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา40(2) แห่งประมวลรัษฎากรดังนั้น กรณีที่ท่านยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่านายหน้าที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตโดยหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 75 ของเงินได้ จึงไม่ใช่การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราตามที่กฎหมายกำหนด และกรมสรรพากรไม่อาจพิจารณาให้ถือว่าการเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราดังกล่าวเป็นการเสียภาษีที่ถูกต้องแล้วได้ |
เลขตู้ | : 67/33028 |