เลขที่หนังสือ | : กค 0811/04265 |
วันที่ | : 7 พฤษภาคม 2542 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการโอนและรับโอนหุ้น |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40, มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 66, มาตรา 70, มาตรา 76 ทวิ, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 |
ข้อหารือ | : บริษัท ก จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายพืชไร่และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีการลงทุนถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขอทราบว่า 1. กรณีบริษัทฯ ได้ลงทุนโดยการถือหุ้นในบริษัท A ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทยและเป็นบริษัทที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในราคามูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ (Par Value) หุ้นละ10 บาท ในขณะเดียวกันบริษัท A ก็ได้ไปลงทุนโดยการถือหุ้นในบริษัท B ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยอีกทอดหนึ่ง ในราคามูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ (Par Value) หุ้นละ 10 บาท ซึ่งขณะลงทุนบริษัท B เป็นบริษัทที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่หลังจากมีการลงทุนไปแล้วระยะหนึ่ง บริษัท Bได้นำหุ้นของตนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในปัจจุบันราคาซื้อขายหุ้นของบริษัท B ในตลาดหลักทรัพย์สูงกว่าราคามูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้ (Par Value) ต่อมาบริษัทฯ มีความประสงค์ จะขายหุ้นของบริษัท A ดังกล่าวให้แก่บริษัทต่างประเทศซึ่งจดทะเบียนในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยหุ้นดังกล่าวไม่มีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) บริษัทฯ เห็นว่า หากบริษัทฯ ขายหุ้นของบริษัท A ไปในราคาไม่ต่ำกว่าราคาทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งคำนวณโดยนำทรัพย์สินที่มีอยู่ตามงบดุลในปีที่ผ่านมาของบริษัท A ซึ่งผ่านการรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต มาหักด้วยหนี้สินทั้งหมด แล้วนำมาหารด้วยจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนไว้ โดยในงบดุลของบริษัท A ได้แสดงเงินลงทุนในหุ้นของบริษัท B ด้วยราคาทุนย่อมถือว่า บริษัทฯ ได้ขายหุ้นดังกล่าวไปในราคาไม่ต่ำกว่าราคาตลาด 2. กรณีบริษัทฯ จะลงทุนโดยการซื้อหุ้นบริษัท B ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยรับซื้อหุ้นดังกล่าวจากบริษัทต่างประเทศซึ่งจดทะเบียนในประเทศเนเธอร์แลนด์ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยและมิได้มีสถานประกอบการ (Permanent Establishment) ในประเทศไทย ไม่ว่าในปัจจุบันและในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาก่อนการจำหน่ายหุ้นในบริษัท B บริษัทต่างประเทศดังกล่าวเพียงแต่เข้ามาถือหุ้นในบริษัท B ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยบริษัทต่างประเทศดังกล่าว และบริษัทฯ มิได้มีความเกี่ยวพันและมิได้มีความสัมพันธ์ในลักษณะที่ปรึกษาหรือบริษัทผู้รับทำงานให้ ต่อมาบริษัทต่างประเทศดังกล่าวได้เสนอขายหุ้นในบริษัท B ให้แก่บริษัทฯ เนื่องจาก เป็นการซื้อขายหุ้นจำนวนมาก บริษัทฯ จึงได้ตกลงที่จะซื้อหุ้นดังกล่าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาด (ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นราคาขายให้กับประชาชนทั่วไปในขณะที่ขาย) และหรือต่ำกว่าราคามูลค่าหุ้น (Par Value) หรือราคาทุนที่ซื้อมา บริษัทฯ เห็นว่า 2.1 กรณีบริษัทต่างประเทศดังกล่าว มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ได้ขายหุ้นในบริษัท B ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้แก่บริษัทฯ การขายหุ้นดังกล่าวยังไม่ถือว่าบริษัทต่างประเทศดังกล่าวมีการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยจากกำไรสุทธิดังนั้น หากบริษัทต่างประเทศขายหุ้นให้แก่บริษัทฯ ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดและ/หรือ ต่ำกว่าราคามูลค่าหุ้น (Par Value) หรือราคาทุนที่ซื้อมา บริษัทต่างประเทศดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยไม่เป็นการขัดต่อมาตรา 5 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร 2.2 หากการขายหุ้นของบริษัทต่างประเทศดังกล่าวมีกำไร (Capital gains) ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามข้อ 14 ของความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน บริษัทฯ จึงไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นดังกล่าวแต่ประการใด 2.3 กรณีที่บริษัทฯ รับโอนหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ในขณะที่รับโอนหุ้นยังไม่ถือว่าบริษัทฯ มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ จึงยังไม่ต้องนำมูลค่าหุ้นมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีบริษัทฯ ได้ขายหุ้นของบริษัท A ซึ่งเป็นหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทต่างประเทศซึ่งจดทะเบียนในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยหุ้นดังกล่าวไม่มีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไปในขณะที่ขาย ดังนั้นหากบริษัทฯ ได้ถือเอามูลค่าหุ้นของบริษัท A ที่ขายโดยกำหนดจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (มูลค่าทรัพย์สินหักด้วยหนี้สินทั้งหมด) ตาม Book Value ของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปีที่จะขายหารด้วยจำนวนหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้ในแต่ละนิติบุคคลนั้น วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ชอบด้วยเหตุผลราคาหุ้นดังกล่าวจึงเป็นราคาที่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร 2. ตามข้อ 2.1 กรณีบริษัทจดทะเบียนในประเทศเนเธอร์แลนด์ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยได้ขายหุ้นในบริษัท B ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้แก่บริษัทฯ กรณียังถือไม่ได้ว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศดังกล่าวประกอบกิจการในประเทศไทย ดังนั้น บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิแต่ประการใด ทั้งนี้ ไม่เข้าตามลักษณะตามมาตรา 66 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีที่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศดังกล่าวได้ขายหุ้นให้แก่บริษัทฯ ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินมูลค่าหุ้นที่ขายตามราคาตลาดตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร 3. ตามข้อ 2.2 กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าหุ้นให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยการขายหุ้นดังกล่าวมีผลประโยชน์ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนตามมาตรา 40(4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 14 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุนและมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 4. ตามข้อ 2.3 กรณีบริษัทฯ ได้รับโอนหุ้นดังกล่าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ในขณะที่รับโอนยังไม่ถือว่ามีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ จึงยังไม่ต้องนำมูลค่าหุ้นไม่ว่าในราคาทุนหรือราคาตลาดมาคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่หากต่อไป บริษัทฯ ได้ขายหุ้นดังกล่าวไปในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินมูลค่าหุ้นดังกล่าวตามราคาตลาดในวันที่โอน ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 62/27808 |