เลขที่หนังสือ | : กค 0811/12998 |
วันที่ | : 3 กันยายน 2541 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเฉลี่ยรายได้และรายจ่ายสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย และเป็นบริษัทในเครือของกลุ่ม บริษัท A จำกัด แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์เพื่อป้อนให้กับโรงงานบริษัท ข. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท A จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกาและบริษัท K จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่นบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี และสิทธิอื่น ๆ บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2540 โดยเป็นรายได้จากการทดลองผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์เพื่อส่งให้บริษัท ข. จำกัด เพื่อทดลองผลิต แต่ได้มีการคิดราคาขายและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติ ถึงแม้บริษัทฯ จะยังไม่ได้ทำการผลิตจริงแต่บริษัทฯ เข้าใจว่าบริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการส่งเสริมฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540บริษัทฯ มีรายได้อื่น ๆ อาทิเช่น ดอกเบี้ยรับจากเงินฝากในธนาคาร จำนวนเงิน 5.5ล้านบาท และรายได้อื่น ๆ เพียงเล็กน้อยจากการขายของเสียจากการผลิต และมีค่าใช้จ่าย จำนวน260.4 ล้านบาท ประกอบด้วยดอกเบี้ยจ่าย 3.5 ล้านบาท ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบ จำนวน 34.2 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 222.7 ล้านบาทบริษัทฯ ขอทราบว่าการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับปี 2540 ดังนี้ 1. ตามที่บริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่วันแรกที่มีการขายสินค้าออกไป ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2540 นั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ 2. การปันส่วนรายได้จากดอกเบี้ยรับ จะปันส่วนรายได้อย่างไร จะใช้หลักเรื่องระยะเวลามาบันทึกได้หรือไม่ อาทิเช่น รายได้จากการส่งเสริมการลงทุน คิด 2.5 เดือน รายได้ส่วนที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนคิด 9.5 เดือน 3. การปันส่วนค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจ่าย ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆควรใช้หลักเกณฑ์ใดในการปันส่วน 3.1 ใช้หลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลามาประยุกต์ใช้ได้หรือไม่ คือ คำนวณค่าใช้จ่ายระหว่าง 2.5 เดือน เป็นค่าใช้จ่ายที่ได้รับการส่งเสริมฯ และ 9.5 เดือน เป็นค่าใช้จ่ายของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมฯ 3.2 ใช้หลักเกณฑ์เรื่องรายได้มาเป็นเกณฑ์ได้หรือไม่ และรายได้นี้ควรจะใช้เฉพาะรายได้หลักหรือรายได้ที่รวมเรื่องรายได้ดอกเบี้ยจ่ายแล้ว4. บริษัทฯ เลือกที่จะ Defer Exchange Gain/Loss สำหรับรายการพิเศษเรื่องกำไร(ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ เข้าใจว่า ขาดทุนที่ตัดจ่ายในปีแรกก็นำมาปันส่วนตามหลักเกณฑ์ที่เลือกตามข้อ 3.1 หรือ 3.2 ส่วนในปีถัดไป ก็ปันส่วนตามข้อ 3.1 ได้นั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีตาม 1. วันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นวันที่เริ่มใช้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้ถือวันที่ผู้ได้รับส่งเสริมมีรายได้จากกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจริง หรือวันที่มีการรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นวันเริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมดังนั้น แม้ว่าชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ที่ขายจะเป็นเพียงชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ตัวอย่างหรือชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์รถยนต์ที่ผลิตได้จากการทดลองการผลิตของกิจการก็ตาม และไม่เป็นชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์รถยนต์ที่ผลิตได้ก่อนวันที่ได้รับอนุมัติให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม ถือได้ว่าบริษัทฯ เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการส่งออกตามบัตรส่งเสริมแล้ว 2. กรณีตาม 2. 3. และ 4. การเฉลี่ยรายได้และรายจ่ายประเภทอื่นนอกจากการขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์เพื่อใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิสำหรับผู้ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมฯและไม่ได้รับการส่งเสริมฯ นั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า รายได้หรือรายจ่ายรายการใดไม่สามารถแยกออกจากกันได้โดยชัดแจ้ง และไม่มีเกณฑ์อื่นที่จะเฉลี่ยรายได้หรือรายจ่ายนั้นได้เป็นการเหมาะสมแล้ว ก็ให้เฉลี่ยรายได้หรือรายจ่ายดังกล่าวออกตามส่วนของรายได้จากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี โดยเฉลี่ยเฉพาะรายได้ที่เกิดในช่วงระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมเท่านั้น |
เลขตู้ | : 61/27053 |