เลขที่หนังสือ | : กค 0811/10083 |
วันที่ | : 2 กรกฎาคม 2541 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีการคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินชดเชยการปฏิบัติงานที่ลูกจ้างทำงานไม่ถึง 5 ปี |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40, มาตรา 48, มาตรา 50, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.6/2530, ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) |
ข้อหารือ | : นาย ก. ทำงานที่บริษัท ข. จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2538 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 และบริษัทฯ ได้เลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2541 พร้อมได้จ่ายเงินเดือนประจำเดือนพฤษภาคม 2541 และเงินชดเชยการปฏิบัติงานจำนวน 619,808.33 บาท (ตามรายได้ 2 - 5) และได้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 149,864 บาท ซึ่งนาย ก. มีความเห็นว่าบริษัทฯ คำนวณหักภาษีณ ที่จ่ายเพราะเหตุออกจากงานไว้สูง โดยนาย ก. มีสถานะการสมรส "หม้าย" ไม่มีบุตร และมีรายได้และค่าใช้จ่าย ดังนี้ รายได้ 1. เงินเดือนสำหรับเดือนมกราคม - เมษายน 2541 เดือนละ 70,523 บาท 2. เงินเดือนสำหรับเดือนพฤษภาคม 2541 เดือนละ 72,865 บาท และเงินผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ (Car Allow) จำนวน 12,600 บาท รวม 85,465 บาท 3. เงินชดเชยการปฏิบัติงานครบกำหนดเกิน 3 ปี จำนวน 180 วัน จำนวน 437,190 บาท 4. เงินค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง จำนวน 72,865 บาท 5. เงินค่าชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ 10 วัน จำนวน 24,288.33 บาทรายจ่ายและภาษีหัก ณ ที่จ่าย 1. ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเพราะเหตุออกจากงาน จำนวน 149,864 บาท 2. จ่ายเบี้ยประกันชีวิต/สุขภาพ จำนวน 20,000 บาท/ปี 3. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม จำนวน 150 บาทขอทราบว่าการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายกรณีดังกล่าว ว่าถูกต้องหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : กรณีตามข้อเท็จจริง 1. รายได้ตาม 1 - 5 เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากนาย ก. ได้ทำงานที่บริษัทฯ เพียง 3 ปี 2เดือน (ไม่ถึง 5 ปี)เงินชดเชยการปฏิบัติงานตามข้อ 3 - 5 จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (ก)ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียว เพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ท่านไม่มีสิทธิ์เลือกคำนวณภาษีและหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 48 (5)แห่งประมวลรัษฎากร แต่ต้องนำเงินได้นั้นมารวมเสียภาษีตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร 2. นาย ก. ได้ทำงานในปี 2541 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม กรณีไม่ถือว่าเข้าทำงานระหว่างปี กรณีไม่อาจคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.16/2530เรื่อง การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ้างแรงงานระหว่างปี ลงวันที่ 8กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ดังนั้นบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ที่จ่ายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ตามมาตรา 50 (1) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณเงินได้ที่จ่ายเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี โดยคูณเงินได้พึงประเมินด้วย 12 หักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษี เป็นเงินภาษีเท่าใดให้หารด้วย 12 ดังนี้ 2.1. คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน จำนวน 72,865 บาท- เงินได้เสมือนว่าจ่ายทั้งปี (72,865 x 12) 874,380.00 บาท - หักค่าใช้จ่าย 40% ไม่เกิน 60,000 -60,000.00 บาท - คงเหลือเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 814,380.00 บาท - หักค่าลดหย่อน ผู้มีเงินได้ 30,000.00 เบี้ยประกันชีวิต 10,000.00 เงินสมทบกองทุนประกันสังคม 150.00 -40,150.00 บาท - คงเหลือเงินได้สุทธิ 774,230.00 บาท - ภาษีเงินได้สำหรับเงินเดือนทั้งปี 99,846.00 บาท - ภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินเดือน (99,846/12) 8,320.50 บาท 2.2 คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินผลประโยชน์อื่น ๆ จำนวน 12,600 บาท และเงินชดเชยการปฏิบัติงาน (3+4+5) จำนวน 534,343.33 บาท ซึ่งมีลักษณะเป็นเงินได้เพิ่มเติมจากเงินได้ประจำในเดือนพฤษภาคม 2541 ต้องนำเงินได้เพิ่มเติมนี้ไปรวมกับเงินเดือนเสมือนว่าจ่ายทั้งปีแล้วคำนวณภาษีดังนี้ - เงินเดือนเสมือนว่าจ่ายทั้งปี (72,865 x 12) 874,380.00 บาท - เงินผลประโยชน์ฯ (12,600 x 1) 12,600.00 บาท - เงินชดเชยฯ (534,343.33 x 1) 534,343.33 บาท รวมเงินได้ 1,421,323.33 บาท - หักค่าใช้จ่าย 40% ไม่เกิน 60,000 -60,000.00 บาท - คงเหลือเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 1,361,323.33 บาท - หักค่าลดหย่อน ผู้มีเงินได้ 30,000.00 เบี้ยประกันชีวิต 10,000.00 เงินสมทบกองทุนประกันสังคม 150.00 -40,150.00 บาท - คงเหลือเงินได้สุทธิ 1,321,173.33 บาท - ภาษีเงินได้สำหรับเงินผลประโยชน์ฯ และเงินชดเชยฯ 241,352.00 บาท - หักภาษีเงินได้สำหรับเงินเดือนทั้งปี -99,846.00 บาท - คงเหลือภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินผลประโยชน์ฯและเงินชดเชยฯ 141,506.00 บาท ดังนั้น บริษัทฯต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้ 1. เงินเดือนเดือนพฤษภาคม 2541 8,320.50 บาท 2. เงินผลประโยชน์ตอบแทนฯ และเงินชดเชยฯ 141,506.00 บาท รวมเป็นเงิน 149,826.50 บาท |
เลขตู้ | : 61/26866 |