เลขที่หนังสือ กค 0811/04212 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อน

เลขที่หนังสือ กค 0811/04212 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อน

เลขที่หนังสือ : กค 0811/04212
วันที่ : 7 เมษายน 2541
เรื่อง : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1), มาตาา* 47(1)(ข), มาตรา 47(1)(ซ), ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฯ (ฉบับที่
24) พ.ศ. 2529
ข้อหารือ : ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ผู้มีเงินได้และคู่สมรสมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอย่างไร
1. กรณีความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี ผู้มีเงินได้ประเภทเงินเดือน ค่าจ้างประเภทเดียว ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะหักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนภริยาสำหรับเงินได้ดังกล่าวอย่างไรและในกรณีคู่สมรสของผู้มีเงินได้นั้นไม่มีเงินได้พึงประเมิน คู่สมรสจะหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกได้หรือไม่
2. การหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย ในกรณีความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี สามีภริยาร่วมกันกู้ยืม โดยสามีมีเงินได้ฝ่ายเดียว กรณีนี้จะหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวอย่างไร
แนววินิจฉัย : 1. กรณีตาม 1. ความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีผู้มีเงินได้ มีเงินได้ประเภทเงินเดือน ค่าจ้างประเภทเดียว เงินได้ดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกฎหมายยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท ตามมาตรา 42 ทวิวรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากคู่สมรสของผู้มีเงินได้ไม่มีเงินได้พึงประเมิน คู่สมรสฯ นั้นจึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร แต่ในการหักลดหย่อนผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อนภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายได้ด้วย ตามมาตรา 47 (1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีตาม 2. การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัยซึ่งเป็นแหล่งสำคัญเพียงแห่งเดียว ในกรณีความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี สามีภริยาร่วมกันกู้ยืมโดยสามีมีเงินได้ฝ่ายเดียวนั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 47 (1) (ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 24) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา 47 (1) (ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12มิถุนายน พ.ศ. 2529 หากสามีมีชื่ออยู่ในทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และได้อยู่อาศัยในระหว่างปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนไม่ว่าภริยาจะเป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วย
การทะเบียนราษฎร และได้อยู่อาศัยในระหว่างปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนหรือไม่ สามีซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ย่อมมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในกรณีดังกล่าวได้เต็มจำนวนตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
เลขตู้ : 61/26562



ขอบคุณบทความจาก ::www.rd.go.th
 419
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์