เลขที่หนังสือ | : กค 0811/01147 |
วันที่ | : 29 มกราคม 2541 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายหุ้น และภาษีธุรกิจเฉพาะจากดอกเบี้ยรับ |
ข้อกฎหมาย | : ประเด็นปัญหา |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากสาขาในฮ่องกงของธนาคาร ก. ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเพื่อนำมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับภาระภาษีอากรตามสัญญากู้ยืมดังกล่าว และเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนหลักทรัพย์ที่บริษัทฯ นำเงินกู้ยืมมาลงทุน ดังต่อไปนี้ 1. ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญากู้ยืมเงิน บริษัทฯ ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากสาขาในฮ่องกงของธนาคาร ก. ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยโดยบริษัทฯ ได้ส่งกรรมการของบริษัทฯ เดินทางไปเจรจาและลงนามในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวในฮ่องกงโดยตรงและสาขาฮ่องกงของธนาคาร ก. ได้ระดมเงินทุนจากแหล่งเงินกู้ และจากการรับฝากเงินในต่างประเทศทั้งจำนวน โดยไม่ได้นำเงินทุนของสำนักงานใหญ่หรือของสาขาอื่น ๆ ในประเทศไทยมาใช้ในการให้กู้แต่อย่างใดเมื่อถึงกำหนดใช้คืนเงินกู้ยืมดังกล่าว บริษัทฯ จะจัดส่งเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยออกไปให้สาขาฮ่องกงของธนาคาร ก. ในฮ่องกงโดยตรงเมื่อบริษัทฯ ส่งดอกเบี้ยออกไปให้สาขาฮ่องกงของธนาคาร ก. บริษัทฯ จะมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ และกรณีดังกล่าว สาขาฮ่องกงของธนาคาร ก. จะต้องนำดอกเบี้ยรับไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ อย่างไร 2. ในส่วนที่เกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนหลักทรัพย์ บริษัทฯ ได้นำเงินทุนของบริษัทฯ และเงินกู้ยืมมาลงทุนซื้อหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันหลายครั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยหลักทรัพย์บางส่วนปรากฏใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ที่ออกในนามบริษัทฯโดยตรงอย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังมีหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้ทำการซื้อขายผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯ ได้เปิดบัญชีไว้ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาต ดังนั้นหลักทรัพย์ที่ได้ทำการซื้อขายผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ดังกล่าว จะไม่มีใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้เป็นหลักฐานแต่อย่างใด (ก) เมื่อบริษัทฯ ได้ทำการขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันซึ่งปรากฏใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ชัดแจ้งเป็นชื่อบริษัทฯ บริษัทฯ จะต้องนำต้นทุนดังกล่าวแต่ละล็อตมาใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยบริษัทฯ จะนำต้นทุนหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันที่ได้ซื้อมาในล็อตอื่น ๆ มาถัวเฉลี่ยเป็นต้นทุนหลักทรัพย์ที่ขายไม่ได้ เนื่องจากมีหลักฐานพิสูจน์โดยชัดแจ้งว่า หลักทรัพย์จำนวนที่ขายดังกล่าวมีเลขที่เท่าใด ลำดับที่เท่าใด และต้นทุนเท่าใด ฉะนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องใช้ราคาต้นทุนของหลักทรัพย์ล็อตนั้น ๆ เป็นการเฉพาะเจาะจงตามหลักการ matching ในทางบัญชี ใช่หรือไม่ (ข) ในกรณีของการขายหลักทรัพย์ที่จัดเก็บในระบบศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ซึ่งไม่มีใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ (scripless) บริษัทฯ ไม่สามารถระบุหมายเลขหลักทรัพย์ที่ขายได้ และไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ที่ซื้อมาในคราวใด เนื่องจากเป็นกรณีที่ไม่มีใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ และไม่มีหมายเลขหุ้นหรือหุ้นกู้ ดังนั้น ในการคำนวณต้นทุนของการขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันที่เก็บในระบบ scripless ของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงไม่สามารถนำวิธีการคำนวณต้นทุนแบบ matching มาใช้ได้ บริษัทฯ จะใช้วิธีการคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายตามหลักการทางบัญชีซึ่งกำหนดไว้ในแถลงการณ์มาตรฐานทางบัญชีที่เหมาะสม เช่น วิธีการถัวเฉลี่ยหรือ LIFO หรือ FIFO ได้หรือไม่ โดยเมื่อบริษัทฯ ยึดหลักการใดตามแถลงการณ์มาตรฐานทางบัญชีดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ จะใช้วิธีการดังกล่าวตลอดไป (ค) ในกรณีของหลักทรัพย์ที่เก็บในระบบ scripless ผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคงเหลืออยู่ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทฯ นั้น หากบริษัทฯ บันทึกหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินค้าซึ่งจะต้องตีราคา ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีตามหลักการของมาตรา 65 ทวิ (6)แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันที่เก็บในระบบ scripless บริษัทฯ จะใช้วิธีการที่ระบุไว้ตามแถลงการณ์มาตรฐานทางบัญชีเช่นเดียวกันที่กล่าวไว้ในข้อ (ข)เพื่อประโยชน์แห่งการตีราคาหลักทรัพย์ตามราคาต้นทุนหรือตามราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่าได้หรือไม่เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าหลักทรัพย์ล็อตใด เลขที่ใด มีต้นทุนเท่าไรได้โดยแจ้งชัดเนื่องจากเป็นกรณีที่ไม่มีใบหุ้นหรือใบหุ้นกู้ |
แนววินิจฉัย | : 1. ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากสาขาในฮ่องกงตามข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นสาขาของธนาคาร ก. ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสาขาฮ่องกงของธนาคาร ก. จึงเป็นกรณีที่บริษัทฯจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และบริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และโดยที่การประกอบกิจการของสาขาฮ่องกงตามข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นการประกอบกิจการนอกราชอาณาจักร สาขาฮ่องกงของธนาคาร ก. จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด 2. ในส่วนที่เกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนหลักทรัพย์ (ก) ในกรณีที่การซื้อหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน ปรากฏใบหุ้น/หุ้นกู้และหมายเลขหลักทรัพย์เป็นหลักฐานชัดแจ้ง บริษัทฯ จะต้องนำมูลค่าต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์หมายเลขนั้น ๆ ที่แท้จริงมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ จะใช้หลักการ First-In First-Out หรือ Last-In First-Out หรือหลักการถัวเฉลี่ยเช่นเดียวกับกรณีของสินค้าไม่ได้ เนื่องจากเป็นกรณีที่สามารถระบุตัวทรัพย์ได้โดยชัดเจน (ข) ในกรณีของการขายหลักทรัพย์ที่บริษัทฯ ได้ซื้อมาในระบบ Scripless โดยผ่าน ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีใบหุ้น/หุ้นกู้ และไม่มีหมายเลขหุ้น/หุ้นกู้เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ว่า หลักทรัพย์ที่บริษัทฯ ขายไปนั้นเป็นหลักทรัพย์ที่ได้ซื้อมาในล็อตใดคราวใด อีกทั้งศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ไม่สามารถกำหนดหมายเลขหุ้น/หุ้นกู้ในหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันนั้นที่ บริษัทฯ ได้ซื้อมาต่างคราวกันไม่ว่าในทางกฎหมายหรือในระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อบริษัทฯ ได้ขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันนั้นไปเพียงบางส่วน บริษัทฯ จะเลือกใช้วิธีการคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ขายนั้นโดยใช้วิธีการทางบัญชีที่ยอมรับกันเป็นการทั่วไป กล่าวคือวิธีการถัวเฉลี่ย วิธีการ First-In First-Out หรือวิธีการ Last-In First-Out ก็ได้ (ค) ในกรณีของหลักทรัพย์ที่เก็บในระบบ Scripless ผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยซึ่งยังคงเหลืออยู่ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทฯ นั้น หากบริษัทฯ บันทึกหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินค้าซึ่งจะต้องตีราคา ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันดังกล่าวเพื่อเทียบเคียงกับราคาตลาดตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น บริษัทฯ จะต้องใช้วิธีการที่ระบุไว้ตามแถลงการณ์มาตรฐานทางบัญชีเช่นเดียวกันกับที่กล่าวไว้ในข้อ (ข) เพื่อประโยชน์แห่งการตีราคาหลักทรัพย์ตามราคาต้นทุนหรือตามราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะต่ำกว่าด้วย อนึ่ง ในกรณีของข้อ (ข) และข้อ (ค) นั้น เมื่อบริษัทฯ ได้เลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งตามแถลงการณ์มาตรฐานทางบัญชีที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการคำนวณต้นทุนของหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในระบบ Scripless แล้ว บริษัทฯ จะต้องใช้วิธีการดังกล่าวตลอดไป ไม่ว่าจะเป็นในหลักทรัพย์ชนิดเดียวกันหรือหลักทรัพย์ต่างประเภทกันก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล |
เลขตู้ | : 61/26340 |