ใคร ทำอย่างไร? เมื่อถูกตรวจสอบประเด็น TRANSFER PRICING

ใคร ทำอย่างไร? เมื่อถูกตรวจสอบประเด็น TRANSFER PRICING

ใคร!!! ทำอย่างไร? เมื่อถูกตรวจสอบประเด็น TRANSFER PRICING

มาตรา 71 ตรี วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
            “ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามวรรคหนึ่งเจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดี อาจส่งหนังสือแจ้งความแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ข้อกำหนดของธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และผู้ได้รับหนังสือแจ้งความต้องปฏิบัติตามภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ อธิบดีจะอนุญาตให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปก็ได้แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความ ทั้งนี้เฉพาะกรณีที่ได้รับหนังสือแจ้งความเป็นครั้งแรก ให้ผู้ได้รับหนังสือแจ้งความต้องปฏิบัติตามภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งความนั้น”

ใครจะเป็นผู้ถูกเลือกให้ยื่นเอกสารหลักฐานแสดงข้อมูลดังกล่าว
            บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 71 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร) และมีธุรกรรมระหว่างกัน เป็นสัดส่วนจำนวนเงินที่เป็นสาระสำคัญของจำนวนรายได้ทั้งหมดของกิจการ ซึ่งการกำหนดราคาระหว่างกันอาจมีผลต่อผลประกอบกิจการหรือกำไรของกิจการ อันมีผลให้เสียภาษีน้อยลงหรือไม่ได้ชำระภาษี (จำนวนรายได้กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง ซึ่งไม่น้อยกว่าสองร้อยล้านบาท ตามมาตรา 71 ตรีวรรคสาม)

กรมสรรพากรมีหลักเกณฑ์ใดบ้างในการคัดเลือกบริษัทฯ เพื่อแจ้งให้นำส่งเอกสารเพื่อทำการตรวจสอบการกำหนดราคาของธุรกรรมระหว่างกัน Transfer Pricing Audit
            ตัวอย่างความเสี่ยง ที่อาจเป็นมูลเหตุให้กรมสรรพากรเรียกตรวจสอบการกำหนดราคาของธุรกรรมระหว่างกัน Transfer Pricing Audit

  1. บริษัทฯ ประกอบกิจการขาดทุนต่อเนื่องกันหลายปี
  2. มีผลประกอบการกิจการไม่สม่ำเสมอ เช่น กำไรปีแรกปีที่สองขาดทุนสลับกันไป ไม่มีภาษีชำระในรอบหลายปี
  3. มีกำไรสุทธิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
  4. ประกอบกิจการมีผลขาดทุน หลังจากหมดระยะเวลาการได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  5. มีการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ และทำให้มีผลกำไรสุทธิลดลงหรือขาดทุน ทำให้เสียภาษีน้อยลงหรือไม่ได้ชำระภาษี
  6. มีรายจ่ายค่าบริหารจัดการ ค่าสิทธิ ที่จ่ายให้แก่บริษัทที่มีความสัมพันธ์กันเป็นจำนวนเงินที่มาก หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ
  7. ไม่มีเอกสาร หลักฐาน หรือสัญญา ที่กำหนดเงื่อนไขราคา หรือธุรกรรมระหว่างกันของบริษัทในกลุ่ม

เมื่อถูกเรียกให้นำส่งเอกสารก็แสดงว่าบริษัท ถูกกรมสรรพากรตรวจสอบประเด็น Transfer Pricing แล้วจะต้องทำอย่างไรดีละ
            บริษัทฯ ต้องจัดทำเอกสาร หลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ข้อกำหนดของธุรกรรมระหว่างกัน ซึ่งรายละเอียดที่ควรมีในเอกสารดังกล่าว ปรากฏอยู่ในคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 113/2545 ข้อ 4 ซึ่งมีอยู่ 10 ข้อ (ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือคำสั่งใด ๆ ออกมายกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง) แต่ความยากของการจัดทำเอกสาร (Transfer Pricing Documentation) คือ ต้องชี้แจงและแสดงให้เห็นว่าวิธีการกำหนดราคาของบริษัท เป็นราคาที่บริษัทอิสระพึงกำหนดกันถูกต้องแล้ว (Arm’s Length Price) ดังนั้นวิธีการที่จะพิสูจน์ คือการหาตัวเปรียบเทียบ ซึ่งค่อนข้างละเอียดและซับซ้อน ต้องอาศัยความชำนาญ ความรู้ทางธุรกิจและบัญชีเป็นหลัก

ตัวอย่าง

           
            สมมุติว่าบริษัท A ประกอบกิจการ มีกำไรสุทธิถัวเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 1% ของยอดขาย แต่จากการวิเคราะห์พบว่ามีบริษัทที่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้มีเพียง 5 บริษัท คือ
               บริษัท B มีกำไรสุทธิถัวเฉลี่ย 3 ปี คือ 3% ของยอดขาย
               บริษัท C มีกำไรสุทธิถัวเฉลี่ย 3 ปี คือ 2%
               บริษัท D มีกำไรสุทธิถัวเฉลี่ย 3 ปี คือ 5%
               บริษัท E มีกำไรสุทธิถัวเฉลี่ย 3 ปี คือ 6%
               บริษัท F มีกำไรสุทธิถัวเฉลี่ย 3 ปี คือ 10%


สรุป ช่วงราคา (กำไรสุทธิของบริษัทอิสระ) Arm’s Length Price คือ 2% - 10% ของยอดขาย

            การตรวจสอบของเจ้าพนักงานฯ จะแจ้งให้บริษัท A ปรับเพิ่มกำไรสุทธิไปที่จุดใดจุดหนึ่งของช่วงราคา

สมมุติ
 บริษัท A มียอดรายรับถัวเฉลี่ย 3 ปี จำนวนเงิน 300,000,000 บาท

         หัก ยอดต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายบริหาร 297,000,000
         กำไรสุทธิ (1% ของยอดขาย) 3,000,000
            ถ้าสรรพากรแจ้งให้ปรับปรุงกำไรสุทธิไปที่ 5% ของยอดขาย บริษัทจะมีกำไรสุทธิ เท่ากับ 15,000,000 บาท (5% ของ 300,000,000) บริษัทจะต้องนำกำไรสุทธิส่วนที่เพิ่มขึ้น 15,000,000 – 3,000,000 = 12,000,000 บาท ไปชำระภาษีเพิ่มเติม บริษัท A จะยินยอมชำระภาษีเพิ่มเติมหรือจะมีข้อโต้แย้งหรือไม่อย่างไร


จะเห็นว่าการหาตัวเปรียบเทียบและการสรุปผลการตรวจสอบ กรณี Transfer Pricing Audit ระหว่างบริษัทกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร คงมีความเห็นต่างกัน และไม่เห็นด้วยกันในหลายประเด็น ดังนั้นการจะจบประเด็นการตรวจสอบ คงต้องอาศัยข้อมูล และประสบการณ์ในการวิเคราะห์ เจรจาด้วยเหตุและผล

ขอบคุณบทความจาก ::สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์
ประกาศบทความโดย ::www.prosofterp.com

 922
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์