ภาษีเงินได้ชาวต่างชาติ

ภาษีเงินได้ชาวต่างชาติ



ทุกวันนี้มีชาวต่างชาติมากมายที่ทำมาหากินอยู่ในเมืองไทย และอีกเช่นกันที่ผู้เขียนมักถูกถามบ่อยครั้งเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของชาวต่างชาติว่า เสียภาษีหรือไม่ อย่างไร ซึ่งคนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่า หากชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในเมืองไทยไม่ถึง 180 วันในปีนั้น ไม่ต้องเสียภาษี

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าประเทศไทยจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยใช้หลักแหล่งเงินได้และหลักถิ่นที่อยู่ ตามนัยมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งสรุปได้ดังนี้

หลักแหล่งเงินได้มาจาก 4 แหล่งใหญ่ คือ

1.เงินได้จากงานที่ทำในประเทศไทย* โดยผู้มีเงินได้ปฏิบัติงานในประเทศไทย เช่น บริษัทในอเมริกา ส่ง นาย A ซึ่งเป็นพนักงานเข้ามาปฏิบัติงานในไทย นาย A ต้องนำเงินเดือนค่าจ้างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ปฏิบัติงานในไทยมายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

อย่างไรก็ตาม นาย A อาจจะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย หากเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขยกเว้นภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อน

2.เงินได้จากกิจการที่ทำในประเทศไทย* เช่น นายเอกเปิดร้าน ขายอาหารในประเทศไทย นายเอกต้องนำเงินได้ที่เกิดขึ้นมายื่นเเบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3.เงินได้จากกิจการนายจ้างในไทย* ผู้รับเงินได้อาจจะปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ได้ เช่น บริษัท ข. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตามกฎหมายไทย ได้ส่ง นายเอก ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท ไปปฏิบัติงาน ณ สาขาของบริษัทที่ประเทศฝรั่งเศส โดยบริษัท ข. จำกัด เป็นผู้จ่ายเงินได้ให้ทุกเดือน นายเอกพนักงานต้องนำเงินได้มายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย

4.เงินได้จากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย* กรณีนี้เป็นเรื่องของเงินได้ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าเจ้าของทรัพย์สินนั้นจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ เช่น ค่าเช่าบ้าน ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผล เป็นต้น

ดังนั้น บุคคลใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ หากมีเงินได้จากแหล่งเงินได้ข้างต้น ผู้มีเงินได้นั้นต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ และจะได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม กฎหมายบังคับให้จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นนั้น

หลักถิ่นที่อยู่ จะเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อครบเงื่อนไข 3 ข้อ คือ

1.ผู้มีเงินได้มีเงินได้จากงานที่ทำในต่างประเทศหรือจากกิจการ ที่ทำในต่างประเทศ หรือจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

2.ได้นำเงินได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้น และ

3.ผู้มีเงินได้นั้นอยู่อาศัยในประเทศไทยถึง 180 วัน

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติก็ตาม หากมีเงินได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยได้นำเงินได้ที่เกิดขึ้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้น และได้อาศัยอยู่ในเมืองไทยถึง 180 วัน ก็ต้องนำเงินนั้นมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ กรณีที่ไม่ครบเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา ผู้มีเงินได้นั้นก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด

ได้มีผู้จ่ายเงินได้ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เมื่อจ่ายเงินได้ ให้ชาวต่างชาติ เข้าใจผิดคิดว่าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ซึ่งแท้จริงแล้วถ้าเป็นกรณีแหล่งเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ชาวต่างชาติผู้รับเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย เว้นแต่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศที่ผู้มีเงินได้ มีถิ่นที่อยู่เท่านั้น

อบคุณบทความจาก :: www.rd.go.th
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 29667
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์