ภาษีค่าไฟ และน้ำประปา

ภาษีค่าไฟ และน้ำประปา




1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปอย่างเราๆ คงเคยชินแล้วว่าเมื่อจ่ายจ่ายค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าที่ใดเราก็ไม่เคยต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นการถูกต้องแล้วเหตุผลคือ

1.1 การจ่ายค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้านั้น ผลทางกฎหมายคือการจ่ายค่าสินค้า น้ำประปาและค่าไฟฟ้าถือเป็นสินค้าซึ่งกฎหมายปัจจุบันไม่ได้กำหนดให้ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้จ่ายจะเป็นบุคคลธรรมดา ชาวบ้านร้านค้า หรือบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดๆ ก็ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทั้งสิ้น

1.2 การไฟฟ้า ฯ และการประปาฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผู้ขายไฟฟ้าและน้ำประปานั้น เป็นนิติบุคคลที่ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังนั้น แม้ผู้จ่ายเงินค่าน้ำค่าไฟจะเป็นหน่วยงานราชการซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเมื่อซื้อสินค้า แต่เมื่อชำระค่าน้ำค่าไฟให้แก่การไฟฟ้าฯ หรือการประปา ก็จะหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ได้

>>>> มีคำถามที่ได้รับอยู่เสมอก็คือ ธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า หรือ service apartment ต่างๆ ซึ่งมักจะแยกเก็บค่าน้ำค่าไฟออกจากค่าเช่าหรือค่าบริการทั้งเรียกเก็บตามหน่วยมิเตอร์ หรือเก็บเป็นการเหมา ผู้จ่ายค่าน้ำค่าไฟจะต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่??
ขอยืนยันคำตอบเดิมคือ ไม่ว่าผู้ที่ขายน้ำประปาหรือไฟฟ้าจะเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบุคคลธรรมดาซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ผู้ที่จ่ายค่าน้ำค่าไฟฟ้าก็ไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเช่นกัน

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ไฟฟ้าและน้ำประปานั้นถือเป็น “สินค้า” ตามมาตรา 77/1 (9) แห่งประมวลรัษฎากร การขายน้ำประปาและไฟฟ้าจึงเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในฐานะเป็นการขายสินค้าไม่ใช่การให้บริการ เพราะมีบางท่านมีความเห็นว่าน้ำประปาและไฟฟ้าเป็นบริการ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง


ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายไฟฟ้าและน้ำประปาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าไฟฟ้าและน้ำประปาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 189 (พ.ศ.2534) ฯ ข้อ 1 ดังนี้ ผู้จ่ายค่าน้ำค่าไฟฟ้าจึงต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ของค่าน้ำหรือค่าไฟฟ้าที่จ่าย

มีกรณีที่เป็นปัญหาของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ไม่ได้เป็นผู้ขายไฟฟ้าหรือน้ำประปา แต่มีบุคคลอื่นขอร่วมใช้น้ำประปาหรือไฟฟ้าโดยผู้ประกอบการฯ เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ร่วมนั้น กรณีดังกล่าวก็ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ขอใช้น้ำใช้ไฟด้วยเช่นกันเพราะถือเป็นการขายน้ำประปาและไฟฟ้า แต่ก็ไม่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ได้ เพราะกฎหมายถือเป็นการขายสินค้าตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นไม่ใช่การให้บริการ

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ขายน้ำประปาหรือไฟฟ้าต้องนำค่าน้ำค่าไฟฟ้าที่ขายได้มารวมคำนวณภาษีเงินได้ตอนสิ้นปีด้วย อย่าดีใจว่าไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเสียจนลืมนำมารวมคำนวณภาษีตอนสิ้นปี แต่ถ้าเป็นการไฟฟ้า ฯ หรือการประปาฯ ซึ่งไม่เข้าลักษณะหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้ จึงไม่ต้องนำค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าที่ขายได้มารวมคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด

ขอบคุณบทความจาก :: สรรพากรสาส์น
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 1439
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์