อายุความ ในการขอคืนภาษีเงินได้

อายุความ ในการขอคืนภาษีเงินได้



มาตรา 27 ตรี วรรคแรก 
ได้บัญญัติไว้เป็นหลักว่า “เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กำหนดระยะเวลาในการขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายและได้มีการนำส่งไว้เป็นจำนวนเงินที่เกินกว่าที่ต้องควรเสีย หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด”

ผู้มีสิทธิขอคืน คือผู้มีเงินได้ หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจให้ทำการเป็นตัวแทนในการยื่นคำร้องขอคืนภาษี 

วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการเสียภาษี  หมายถึงวันครบกำหนดยื่นแบบแสดงรายการ เช่น กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วันสุดท้ายของการยื่นแบบแสดงรายการคือวันที่ 31 มีนาคมของปีปฏิทินถัดไป หรือกรณีเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลวันสุดท้ายของการยื่นแบบแสดงรายการคือภายใน 150 วันหลังสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของนิติบุคคลนั้น มิใช่วันสุดท้ายของการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี (กลางปี) ล่วงหน้า ในกรณีมีกฎหมายกำหนดให้มีการยื่นชำระภาษีและแบบแสดงรายการล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้มีสิทธิขอคืนภาษียื่นแบบแสดงรายการเมื่อพ้นเวลาที่กำหนด หรือได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีให้ขยายหรือเลื่อนออกไป ตามมาตรา 3 อัฎฐ มาตรา 27 ตรีวรรคสอง กำหนดว่าการยื่นคำร้องขอคืนก็สามารถยื่นได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการตามที่ได้ขยายไปนั้น 
หรือในกรณีที่ผู้มีสิทธิขอคืนภาษี ทำการยื่นอุทธรณ์การประเมินหรือเป็นคดีในศาล คำร้องขอคืนก็สามารถยื่นได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นหนังสือ หรือนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่กรณี
อนึ่ง ประมวลรัษฎากรยังได้กำหนดเพิ่มเติมไว้เป็นพิเศษในเรื่องการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้เกินใน มาตรา 63 เป็นต่างหากด้วยว่า

“บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืนแต่ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่พนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป”
ดังนั้น ความในมาตรา 63 จึงถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 27 ตรี ระยะเวลาในการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงย่นระยะเวลามาเป็น 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีภาษี ซึ่งถูกหักภาษีเกินไป
ฎ.9911/2539 ได้วินิจฉัยไว้ดังนี้ การขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ที่บริษัทถูกหักและนำส่งเกินไป บริษัทต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปีนับแต่วันสิ้นปีที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (ไม่ใช่นับตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี) จะนำมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาบังคับไม่ได้ เมื่อรอบระยะเวลาบัญชีของโจทก์ เริ่ม 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. ดังนั้นรอบระยะเวลาบัญชี 2531 ซึ่งได้ยื่นคำร้องขอคืนเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2535 ขาดอายุความขอคืนแล้ว (นอกจากนี้ยังมี ฎ. 9912/2539 ฎ. 9913/2539 ฎ. 1810/2540 ฎ. 4688/2540 ก็วินิจฉัยไว้ในลักษณะเดียวกัน)
มีข้อน่าสังเกตว่า แม้มาตรา 63 จะเป็นบทบัญญัติที่กำหนดอยู่ในส่วนที่ว่าด้วยภาษีเงินได้ที่เก็บจากบุคคลธรรมดาแต่มาตรา 3 เตรส ซึ่งเป็นมาตราที่ว่าด้วยการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกประเภท กำหนดให้นำความมาตรา 63 มาบังคับใช้โดยอนุโลมด้วย จึงมีผลให้ความในมาตรา 63 ครอบคลุมไปถึงภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายทุกประเภท ทั้งของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

มาตรา 3 เตรส กำหนดไว้ดังนี้


“ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้จ่ายเงินพึงประเมินตามมาตรา 40 ซึ่งไม่มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายตามลักษณะ 2 ภาษี ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ในการนี้ ให้นำมาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 60 และมาตรา 63 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

นอกจากนี้ ศาลฎีกายังได้มีคำพิพากษาตัดสินไว้ใน  ฎ.9913/2540 ไว้ด้วยดังนี้

“มาตรา 3 เตรส นั้นใช้บังคับทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และนำมาตรา 63 มาบังคับแก่การขอคืนเงินไว้แล้ว ดังนั้น จึงนำมาตรา 27 ตรี มาใช้บังคับไม่ได้”
ในส่วนของการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่มิได้ขอเครดิตภาษีตามรายเดือนภาษีนั้นมาตรา 84/1 ได้บัญญัติไว้เป็นเอกเทศดังนี้
       กรณีการขายสินค้าหรือการให้บริการที่มีภาษีต้องคืน ให้ยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น ซึ่งคือวันที่ 15 ของเดือนภาษีถัดไป
        กรณีการขายสินค้าหรือให้บริการในกรณีอื่น เช่น คำนวณผิดพลาดชำระซ้ำ ฯลฯ ให้ยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปีนับแต่ที่ได้ชำระภาษี

ส่วนขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะมาตรา 91/11 ได้บัญญัติไว้เป็นเอกเทศเช่นกันโดยให้ยื่นคำร้องภายใน 3 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี

อบคุณบทความจาก :: สรรพากรสาส์น
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 386
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์