จ่ายเงินทดรองต้องมีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

จ่ายเงินทดรองต้องมีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่


จ่ายเงินทดรองต้องมีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

การประกอบธุรกิจในปัจจุบันโดยทั่วไป จะพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีรายจ่ายประเภทต่างๆ ในรูปแบบที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายที่เป็นต้นทุนของสินค้า หรือบริการโดยตรง หรือรายจ่ายประเภทที่เป็นรายจ่ายเพื่อการบริหารงาน ซึ่งรายจ่ายประเภทต่างๆ เหล่านี้ หากกิจการได้จ่ายไปจริงแล้วก็ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ และหาก เป็นกรณีที่ถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไปด้วยแล้ว ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ย่อมนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นนั้นมาใช้เป็นภาษีซื้อ ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
อย่างไรก็ดี มีรายจ่ายประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำนั่นคือรายจ่ายประเภทการทดรองจ่ายที่กิจการได้จ่ายแทนผู้อื่นไป หรือมีบุคคลอื่นทดรองจ่ายแทนไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บคืนจากกิจการ ที่ยังมีข้อถกเถียงกันว่าเงินทดรองจ่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร และหากเป็นกรณีการทดรองจ่ายแทนผู้อื่นไปก่อนแล้วจะนำภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นมาใช้เป็นภาษีซื้อ ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ จึงเป็นที่มาของบทความนี้ซึ่งจะนำเสนอประเด็น อันเกี่ยวกับเงินทดรองจ่ายตามแนวคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรว่า เงินทดรองจะมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ อย่างไร และในกรณีใดบ้าง

หลักการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax - VAT) เป็นภาษีบริโภค หรือที่เรียกกันติดปากว่าเป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ จึงเห็นว่าการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่เป็นการบริโภคในประเทศนั้นจะอิงกับการขายสินค้าหรือการให้บริการเป็นหลัก การใดก็ตามที่ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า หรือไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการแล้ว การนั้นก็ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับประมวลรัษฎากรได้มีการกำหนดกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในมาตรา 77/2 สรุปความได้ว่าการกระทำกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการ และการนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้านั้น จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาว่าลักษณะใดบ้างที่ถือเป็นการขายสินค้า และลักษณะใดบ้างที่ถือเป็นการให้บริการแล้ว จะพบว่ามีการกำหนดนิยามไว้ในมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร สรุปความว่า "ขาย" หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึงการอื่นที่กำหนดไว้ ส่วน "บริการ" หมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเอง ไม่ว่าประการใดๆ

อะไรคือเงินทดรองจ่าย
หากจะกล่าวเฉพาะถึงคำว่า "เงินทดรอง" จะพบว่าประมวลรัษฎากรมิได้มีการให้คำนิยามคำว่าเงินทดรองไว้เลย ดังนั้น เมื่อจะต้องพิจารณากันว่าเงินทดรองใดบ้างที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และในกรณีใดไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป ข้อเท็จจริงรายหนึ่งๆ ที่กรมสรรพากรเคยวินิจฉัยไปแล้วอาจนำไปใช้กับข้อเท็จจริงรายอื่นไม่ได้ ด้วยเพราะว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มีรายละเอียดแตกต่างกันก็ได้

แนววินิจฉัยของกรมสรรพากร
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าประมวลรัษฎากรมิได้มีคำนิยามของคำว่าเงินทดรองไว้ ดังนั้น การศึกษาในประเด็นดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่ จะต้องศึกษาจากแนววินิจฉัยของกรมสรรพากร ซึ่งจะพบว่าภายหลังจากที่ประเทศไทยได้มีการ นำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 แนววินิจฉัยของกรมสรรพากรอันเกี่ยวกับเงินทดรองในประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป ซึ่งได้รวบรวมสรุปแนววินิจฉัยของกรมสรรพากรในประเด็นหลักที่น่าสนใจได้ดังนี้

1.บริษัทผู้ขายได้จำหน่ายสินค้าโดยจัดส่งให้ลูกค้าโดยบริษัทไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าเอง บริษัทได้ติดต่อให้บุคคลอื่นเป็นผู้ขนส่งสินค้าให้ แต่บริษัทต้องทดรองจ่ายค่าขนส่งให้ลูกค้า แล้วจึงมาเรียกเก็บกับลูกค้าโดยแยกราคาสินค้าและราคาค่าขนส่ง ไม่ถือเป็นการทดรองจ่าย กรณีนี้บริษัทผู้ขายสินค้าจะต้องนำค่าขนส่งที่เรียกเก็บจากลูกค้ามาเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย (หนังสือที่ กค 0802(กม)/พ.760 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2536)

2.บริษัทในเครือที่อยู่ในประเทศไทยได้ทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่บริษัทแม่ซึ่งตั้งอยู่ในต่างประเทศจะต้องจ่ายในประเทศไทยแทนบริษัทแม่ไปก่อน โดยบริษัทในเครือได้รับใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีในนามของตนเองซึ่งเป็น ผู้ทดรองจ่าย ดังนี้ เมื่อบริษัทในเครือได้เรียกเก็บเงินคืนจากบริษัทแม่ กรณีถือเป็นการได้รับเงินทดรองจ่ายคืน ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่ม และบริษัทในเครือไม่สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่ได้รับมาใช้เป็น ภาษีซื้อได้ (หนังสือที่ กค 0802/พ.3179 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537)

3.บริษัทในเครือที่อยู่ในประเทศไทยได้ทดรองจ่ายค่าระวาง ค่าที่พัก ค่าโรงแรมให้แก่พนักงานบริษัทแม่หรือบริษัทในเครืออื่นที่อยู่ในต่างประเทศในระหว่างที่พนักงานเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย โดยบริษัทในเครือได้รับ ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีในนามของตนเอง ซึ่งเป็นผู้ทดรองจ่าย เมื่อบริษัทในเครือได้เรียกเก็บเงินคืนจากบริษัทแม่หรือบริษัทในเครืออื่นๆ ถือเป็นการได้รับเงินทดรองจ่ายคืน ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัทในเครือไม่สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี ที่ได้รับมาใช้เป็นภาษีซื้อได้ (หนังสือที่กค 0802/18872 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2538)

4.บริษัทจ่ายค่าโฆษณาในส่วนของตนเอง และได้ทดรองจ่ายค่าโฆษณาแทนบริษัทในเครือ เมื่อบริษัทในเครือได้เรียกเก็บเงินคืนจากบริษัทแม่หรือบริษัทในเครืออื่นๆ ถือเป็นการได้รับ เงินทดรองจ่ายคืน ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัทในเครือไม่สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่ได้รับมาใช้เป็น ภาษีซื้อได้ (หนังสือที่ กค 0802/พ.3205 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2539)

Click
 Download
รายละเอียดจ่ายเงินทดรองต้องมีภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ คลิกได้ที่รูปภาพ


อบคุณบทความจาก :: สรรพากรสาส์น

ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com
 1285
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์