Digital Transformation สำหรับนักบัญชีในยุคดิจิทัล

Digital Transformation สำหรับนักบัญชีในยุคดิจิทัล



เชื่อว่าในช่วงที่ผ่านมานี้เพื่อน ๆ นักบัญชี ย่อมสัมผัสได้ถึงกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงจาก Digital Disruption และสภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลจากการแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลให้ธุรกิจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่เรียกว่า VUCA World ที่ต้องเจอทั้งความผันผวน (Volatility) ความไม่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) หลาย ๆ ธุรกิจปรับตัวเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานทั้งการขาย การผลิต การสั่งซื้อ เพื่อให้รวดเร็ว ประหยัดต้นทุน หรือยกระดับธุรกิจและเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อทำงานแบบดิจิทัล เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่รวดเร็ว ทันต่อเวลา หลาย ๆ เทคโนโลยีถูกพูดถึงและนำมาปรับใช้ทั้ง AI, Blockchain, Cloud และ Data Analytic หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ABCD เรากำลังเข้าสุ่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งส่งผลต่องานบัญชีแน่นอนมีคำถามมากมายเกี่ยวกับอนาคตการทำงานของนักบัญชีว่าควรจะปรับตัวอย่างไรในโลกที่เปลี่ยนตัวเองเร็วขึ้นทุกวัน และจะไม่มีวันช้าลงแบบนี้ ซึ่งเพื่อน ๆ นักบัญชีส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่าถึงเวลาต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้ว และควรจะเริ่มต้นอย่างไร บทความนี้อยากจะมาแบ่งปันการเริ่มต้นในการทำ Digital Transformation สำหรับนักบัญชีในยุคดิจิทัลว่าต้องเริ่มที่จุดใดกันบ้างนะครับ

Digital Mindset

            เป็นทัศนคติที่จะช่วยในการปรับตัวในยุคดิจิทัล ถ้าเราหันกลับไปมองในชีวิตประจำวัน จะพบว่า คนใช้ชีวิตร่วมกับเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันอย่างแยกกันไม่ออกแล้ว ทั้งการติดต่อสื่อสาร ดูหนัง ฟังเพลง ซื้อสินค้า และบริการ ทำธุรกรรมกับธนาคาร แม้กระทั่งการจ่ายภาษี ผ่านทางออนไลน์แอปพลิเคชันต่าง ๆ เพราะว่าเกิดความสะดวกขึ้นในการเข้าถึงและง่ายในการติดต่อหรือทำรายการ ดังนั้นหากนักบัญชีเราจะเปิดรับให้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการทำงานจึงไม่ใช่เรื่องยากและเป็นเรื่องใกล้ตัวที่นักบัญชีทุกคนสามารถทำได้ เมื่อได้เริ่มต้นช่วงแรกก็อาจไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยชินไปบ้าง แต่เมื่อพบว่าการทำงานด้วยเทคโนโลยีหรือเครื่องมือดิจิทัล ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนใหญ่จะมีช่วงให้ทดลองใช้งานตอนเริ่มต้น ก็จะเกิดความกล้าทดลองซึ่งจะสร้างทักษะในการเรียนรู้เครื่องมือใหม่ ๆ ทั้งในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าหรือทีมงานผ่านการประชุมออนไลน์ การทำงานผ่านโปรแกรมระบบบัญชีที่เป็นระบบ Cloud, การใช้ Digital Solution หรือ แอปพลิเคชันมาช่วยบริหารจัดการงานด้านต่าง ๆ เช่น การจัดสรรงาน การควบคุมความก้าวหน้าของงาน การบันทึกต้นทุนงานการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบวัตถุประสงค์ของธุรกิจซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำงานอย่างมาก สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างทักษะในยุคดิจิทัล (Digital Skills) ซึ่งจะเป็นรูปแบบของการทำงานในอนาคตที่คนทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอย่างแยกกันไม่ออก และเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆเกิดขึ้นมาอีก ก็จะไม่ใช่เรื่องยากในการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการเริ่มมี Digital Mindset ที่ดี

Culture of Innovation

            การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็เป็นอีกคุณลักษณะที่สำคัญอีกประการของโลกดิจิทัล ดังนั้นการยอมรับการเปลี่ยนแปลงและพร้อมพัฒนาอยู่เสมอ ด้วยการมีความสุขกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ก็จะช่วยให้การทำงานและปรับตัวในโลกดิจิทัลเป็นเรื่องสนุกและมีความสุขได้ การสร้างวัฒนธรรมในองค์กรให้เปิดกว้าง ให้มีการปรึกษาหารือแบบไม่เป็นทางการ เช่น การจัดให้มี Standup Meeting เพื่อให้ทีมงานทุกคนมีโอกาสแสดงความเห็น การรับฟังปัญหาเชิงลึกที่เกิดขึ้นจากการทำงาน การเปิดโอกาสให้ทีมงานเสนอแนวทางแก้ปัญหาและแนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนางานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของธุรกิจ การจัดให้มีโครงการใหม่ ๆ ในการทดลองเพื่อทดสอบแนวคิด หรือที่เรียกว่า Sandbox ซึ่งสามารถจำกัดผลกระทบ เวลาและงบประมาณของการทดสอบได้ เป็นกล่องทรายให้ทดลองและเรียนรู้ที่จะผิดพลาดแล้วสามารถนำบทเรียนมาพัฒนางาน จะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาและสร้างนวัตกรรมในการทำงานได้ สิ่งเหล่านี้จะสามารถเปลี่ยนการทำงานที่เคร่งเครียด ให้เป็นความสนุกสนาน ท้าทายในการพัฒนาและเรียนรู้ด้วยแนวคิดที่เปิดกว้าง ทีมงานจะสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ หรือแม้กระทั่งเกิดข้อผิดพลาดก็จะเกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อีกประการที่สำคัญคือการสื่อสารระหว่างหัวหน้างานและทีมงานอย่างสม่ำเสมอถึงการพัฒนางานและเป้าหมายขององค์กรก็จะช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทีมงาน ซึ่งจะช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนในการ Transformation ไปทั้งองค์กรได้พร้อมกัน ด้วยวัฒนธรรมแบบเปิดกว้างในการทำงานที่จะรองรับการพัฒนาในยุคดิจิทัล

Digital Business Transformation and People Management

            เมื่อจะเริ่มกระบวนการ Digital Transformation นั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีคือองค์ประกอบที่สำคัญแต่ความจริง คือเทคโนโลยีไม่ใช่ทั้งหมดของการทำ Digital Transformation การก้าวข้ามจากรูปแบบการทำงานในปัจจุบันไปสู่ดิจิทัล จึงต้องผ่านสะพานที่ชื่อว่า Transformationซึ่งคือการทำความเข้าใจปัญหา อุปสรรค โอกาส และกลยุทธ์ของธุรกิจอย่างแท้จริงก่อน การทุ่มพัฒนาเทคโนโลยีโดยละทิ้งสิ่งเหล่านี้ จึงไม่ใช่ปลายทางของ Digital Transformation การเข้าใจต้นเหตุปัญหาและกลยุทธ์ของธุรกิจที่แท้จริงอย่างลึกซึ้ง (Insights) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ กุญแจความสำเร็จที่สำคัญของการทำ Digital Transformation คือการสร้างสมดุลระหว่างการทำเทคโนโลยีมาปรับใช้ การปรับกระบวนการทำงานใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและทิศทางของธุรกิจ และการพัฒนาทักษะของคนในองค์กรไปพร้อมกัน เพราะเทคโนโลยีอาจมาลดงานบางส่วนที่ทำด้วยคนลง เช่น

  • Optical Character Recognition (OCR) มาช่วยในการอ่านเอกสารทางบัญชีและแปลงเป็นไฟล์ข้อความเพื่อเตรียมพร้อมในการทำงานและบันทึกบัญชี
  • Artificial Intelligence (AI) มาช่วยในการบันทึกรายการทางบัญชีและใช้ดุลยพินิจเบื้องต้นในการแสดงและจัดประเภทรายการทางบัญชี
  • Robotic Process Automation (RPA) มาทำงานแทนคนในการบันทึก กระทบยอด ปรับปรุงรายการทางบัญชี

            ดังนั้น เมื่อเทคโนโลยีเริ่มเข้ามาทดแทนงานของคนลงบางส่วนแล้วแต่จะสังเกตได้ว่าเป็นงานในส่วนที่มีรูปแบบขั้นตอนที่ชัดเจน มีการทำซ้ำ (Routine) เท่านั้น ทักษะที่สำคัญของนักบัญชีที่เครื่องจักรยังไม่สามารถทำได้ ในการใช้ดุลยพินิจ (Judgement) ตีความรายการเพื่อปรับใช้มาตรฐานรายงานทางการเงินอย่างเหมาะสม การประเมินถึงหลักกฎหมายภาษีอากรในระดับเนื้อหาของรายการกับข้อเท็จจริงทางธุรกิจ การออกแบบระบบงานและเลือกเทคโนโลยีมาปรับใช้ที่สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนางาน (Solution) ด้วยความคิดสร้างสรรค์ การเลือกรูปแบบในการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญต่อกลยุทธ์ธุรกิจ การติดต่อสื่อสารและการทำงานเป็นทีม จะเป็นศิลปะในการทำงานที่มีคุณค่าอย่างมากในยุคดิจิทัล การยกระดับทักษะของนักบัญชีเหล่านี้จะช่วยให้นักบัญชีในยุคดิจิทัลสามารถเพิ่มและขยายคุณค่าในการขึ้นมายืนเคียงข้างธุรกิจเพื่อสามารถเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นคู่คิดในการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จด้วยความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพได้ สิ่งเหล่านี้นอกจากช่วยให้นักบัญชีที่ปฏิบัติงานในองค์กรสามารถยกระดับทักษะในการทำงานและประสิทธิภาพการทำงานของทีมงานและองค์กรให้สูงขึ้นได้แล้ว นักบัญชีที่เป็นสำนักงานบัญชียังสามารถยกระดับการให้บริการ พัฒนาทีมงานซึ่งช่วยให้เพิ่มรูปแบบของบริการและค่าบริการวิชาชีพ เนื่องจากสามารถตอบสนองความคาดหวังในการสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

            จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่า Digital เป็นทางรอดไม่ใช่แค่ทางเลือกอีกต่อไป การ Transformation จึงเป็นสะพานพาไปสู่เป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงเพื่อความสำเร็จในรูปแบบใหม่ขององค์กรและธุรกิจในอนาคตของนักบัญชี ท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ นักบัญชีฝ่าคลื่น Disruption นี้ไปพร้อมกัน สามารถเริ่มต้นกระบวนการ Digital Transformation งานบัญชี เพื่อให้การทำงานบัญชีมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นด้วยการปรับรูปแบบการทำงานในยุคดิจิทัล


อบคุณบทความจาก :: สภาวิชาชีพบัญชี
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 294
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์