เลขที่หนังสือ | : กค 0702/530 |
วันที่ | : 1 กุมภาพันธ์ 2566 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีได้รับเงินจากสามีชาวต่างชาติซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรส |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 42 (28) |
ข้อหารือ | 1. นาง ก. ปัจจุบันมีสามีเป็นชาวต่างชาติชื่อ Mr.A แต่มิได้จดทะเบียนสมรส 2. กรมสรรพากรมีข้อมูล Exchange of Information จากสรรพากรต่างประเทศ (ประเทศ B) กรณีนาง ก. ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับเงินของขวัญ (Gift) ในฐานะ แฟนสาวจาก Mr.A คิดเป็นเงินบาทไทยตามอัตราซื้อถัวเฉลี่ยเงินโอนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดังนี้ 2.1 จำนวน 1 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 2.2 จำนวน 8 แสนบาท เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2561 2.3 จำนวน 7 แสนบาท เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2562 3. นาง ก. แจ้งว่าได้รับเงินรายเดือนจาก Mr.A ซึ่งเป็นสามีที่มิได้จดทะเบียนสมรส เพื่อใช้สอยในครอบครัวประมาณเดือนละ 35,000 บาท โดยสําหรับปี พ.ศ. 2558 - 2559 ได้รับเงินจากสามีประมาณเดือนละ 60,000 บาท อย่างไรก็ดี ไม่เคยได้รับเงินก้อนใหญ่ แต่อย่างใด นาง ก. เดินทางไปประเทศ B ปีละสองเดือนครึ่ง และจะกลับมาอยู่ใน ประเทศไทย 4. เงินที่นาง ก. ได้รับในกรณีดังกล่าว เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (28) แห่ง ประมวลรัษฎากรหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | 1. กรณีนาง ก. ได้รับเงินได้ตาม 2.1 2.2 และ 2.3 ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร นาง ก. ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา เว้นแต่กรณีดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นตามบทบัญญัติ แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา 2. กรณีที่นาง ก. ได้แจ้งข้อเท็จจริงว่า เงินได้ตาม 2.1 2.2 และ 2.3 ที่ได้รับนั้น เป็นเงิน ค่าใช้สอยภายในครอบครัวที่ได้รับจาก Mr.A ซึ่งเป็นสามีโดยมิได้จดทะเบียนสมรสของตน แต่เนื่องจากมาตรา 42 (27) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไข เพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 กำหนดให้เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะ หรือจากการให้โดยเสน่หาจากคู่สมรสเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นเฉพาะเงินได้ในส่วน ที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น ซึ่งการได้รับยกเว้นในกรณีนี้ต้องเป็นกรณีคู่สมรส โดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ เป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนเป็นสามีภริยาถูกต้องตามกฎหมาย เงินได้ที่นาง ก. ได้รับดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (27) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 3. อย่างไรก็ดี ในบทบัญญัติมาตรา 42 (28) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้เงินได้ ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตาม โอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีจากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินสิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น ในกรณีนี้จึงต้องพิจารณาว่าเงินได้ที่นาง ก. ได้รับจาก Mr.A ซึ่งเป็นบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้อง ตามกฎหมายนั้น เป็นเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือไม่ โดยอาจ พิจารณาได้ 3 ประเด็น ดังนี้ 3.1 กรณีนาง ก. ได้รับเงินจาก Mr.A โดยแจ้งข้อเท็จจริงว่า เป็นเงิน ค่าใช้สอย ในครอบครัว กรณีดังกล่าวจึงต้องพิจารณาในประเด็นที่ว่าเงินได้นั้นเป็นเงินได้ที่ได้รับจาก การอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือไม่ และเนื่องจากประมวลรัษฎากรซึ่งเป็น กฎหมายเฉพาะ มิได้กำหนดความหมายของ “การอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” ไว้ ประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 535 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็น บทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ได้บัญญัติเกี่ยวกับกรณีการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยานั้น ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ ก็มิได้ให้ความหมายของ “การให้โดยหน้าที่ ธรรมจรรยา” ไว้โดยเฉพาะแต่อย่างใด ดังนั้น การตีความในเรื่องนี้อาจพิจารณาตาม ความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งสรุปได้ว่า “การ อุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” เป็นกิจหรือการประพฤติถูกธรรมที่จะต้องทำ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล หรืออุดหนุน 3.2 เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างนาง ก. และ Mr.A ซึ่งนาง ก. กล่าวอ้างว่า Mr.A เป็นสามีโดยมิได้จดทะเบียนสมรสของตน กรณีจึงมิใช่คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย การอยู่กินฉันสามีภริยาของคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายจึงเป็นไปตาม หลักพฤตินัย ซึ่งการพิสูจน์ให้ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นเรื่อง การใช้ชีวิตร่วมกันในครัวเรือน และจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณี อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้มี ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ของ ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561 วางหลักเกณฑ์ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงคู่สมรส จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฉบับดังกล่าว ได้กำหนดขยายความให้คู่สมรสรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียน สมรสด้วย ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากกฎหมายภาษีอากรที่วางแนวทางปฏิบัติของกรณี คู่สมรสว่าต้องเป็นสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ ประกาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฉบับดังกล่าวได้กำหนดลักษณะ ของบุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐ ให้ถือเป็นคู่สมรสไว้ดังนี้ (1) ได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมี บุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินเป็นสามีภริยากันตาม ประเพณี (2) เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน หรือมีพฤติการณ์ เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว (3) ให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐและต่อมา ได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของ สังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นสามีหรือภริยากัน ดังนั้น ในชั้นนี้ หากจะให้พิจารณาในเรื่องของความสัมพันธ์ว่าบุคคลซึ่งเป็นสามีภริยากัน โดยมิได้จดทะเบียนสมรสจะมีลักษณะอย่างไร ก็อาจนำแนวทางตามประกาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฉบับดังกล่าวมาประกอบการ พิจารณาได้ 3.3 การพิจารณาภาระหน้าที่ของสามีภริยาซึ่งจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 3 ความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา มาตรา 1461 ได้ กำหนดว่า “มาตรา 1461 สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน” จาก บทบัญญัติดังกล่าวเมื่อนำมาพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของบุคคลที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่มีความสัมพันธ์ในลักษณะเช่นเดียวกับคู่สามีภริยาที่จดทะเบียน สมรสถูกต้องตามกฎหมาย ก็ย่อมต้องมีหน้าที่หรือมีความประสงค์ที่จะต้องช่วยเหลือ อุปการะกันตามสมควรเช่นเดียวกัน 4. จากกรณีที่กล่าวใน 3.1 3.2 และ 3.3 ข้างต้น จึงพิจารณาได้ว่า บุคคลสองคนซึ่งมี ความสัมพันธ์กันฉันสามีภรรยาในลักษณะที่เป็นคู่สมรสซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย หากจะมี “การอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” ซึ่งหมายถึง เป็นกิจหรือการประพฤติถูกธรรม ที่จะต้องทำเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล หรืออุดหนุน ก็ย่อมมีความเป็นไปได้ โดยถือเป็นการ ช่วยเหลืออุปการะกันตามสมควรในทำนองเดียวกันกับสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้อง ตามกฎหมาย ซึ่งอาจต้องพิจารณาเป็นรายกรณีและใช้ความระมัดระวังและรอบคอบในการ พิจารณา ดังนั้น ในกรณีของนาง ก. ซึ่งอ้างว่าได้รับเงินได้เพื่อเป็นค่าใช้สอยในครอบครัวจาก Mr.A ซึ่งเป็นสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส หากปรากฏข้อเท็จจริงและพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่า นาง ก. และ Mr.A มีความสัมพันธ์ในลักษณะของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้ จดทะเบียนสมรส อันอาจเทียงเคียงได้กับประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติฉบับดังกล่าว กล่าวคือ ได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกัน โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินเป็นสามีภริยากัน ตามประเพณี หรือ Mr.A มีการแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน หรือมี พฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว กรณีเงินได้ที่นาง ก. ได้รับเพื่อเป็น ค่าใช้สอยในครัวเรือนจาก Mr.A ซึ่งเป็นการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามสมควรของ ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสดังกล่าว ย่อมเข้าลักษณะเป็นเงินได้ จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา ตามมาตรา 42 (28) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 |