• หน้าแรก

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/1299 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการได้รับเงินอุดหนุน รายรับจากการดำเนินการ และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เลขที่หนังสือ กค 0702/1299 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการได้รับเงินอุดหนุน รายรับจากการดำเนินการ และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • หน้าแรก

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/1299 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการได้รับเงินอุดหนุน รายรับจากการดำเนินการ และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เลขที่หนังสือ กค 0702/1299 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการได้รับเงินอุดหนุน รายรับจากการดำเนินการ และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เลขที่หนังสือ : กค 0702/1299
วันที่ : 8 มีนาคม 2566
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการได้รับเงินอุดหนุน รายรับจากการดำเนินการ และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1 (8) (10) มาตรา 85/1
ข้อหารือ   1. สำนักงาน ก. (สำนักงานฯ) มีสถานะเป็นองค์การมหาชน เป็นหน่วยงานของรัฐและเป็น นิติบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง จัดตั้งขึ้นตามพระราช กฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงาน ก. (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2546 โดยมีวัตถุประสงค์ ทุน และทรัพย์สินตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ
  2. สำนักงานฯ มิได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ หากแต่มีหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการวิจัยและบุคลากรด้านการวิจัยเป็นหลัก อีกทั้งปัจจุบัน สำนักงานฯ เป็นหน่วยบริการจัดการทุนวิจัยทำหน้าที่บริหารเงินที่ได้รับการจัดสรร จาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือแหล่งเงินทุนอื่นให้เป็นไปตาม วัตถุประสงค์และข้อผูกพันการรับทุน จึงทำให้สำนักงานฯ มีรายรับจาก 2 ส่วน ดังนี้
    2.1 เงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนทุนวิจัยให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะ ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินสนับสนุน ทุนโครงการวิจัย ซึ่งในส่วนนี้จะมีเงินคงเหลือ 2 ส่วน คือ
      1) เงินคงเหลือจากการจัดสรรทุนวิจัย ส่วนนี้จะส่งคืนให้กับหน่วยงานที่อุดหนุนทุน วิจัยซึ่งเป็นไปตามสัญญา
      2) เงินคงเหลือจากการดำเนินโครงการวิจัย ส่วนนี้จะนำไปจัดสรรทุนวิจัยให้กับ โครงการอื่นต่อไป
    2.2 ค่าเปิดเผยเทคโนโลยีจากการอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัย ซึ่งสำนักงานฯ มีสถานะ เป็นองค์การมหาชนจึงเป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไรเป็นหลัก ทำให้การคิดค่าเปิดเผย เทคโนโลยีดังกล่าว จึงคิดจากงบประมาณโครงการ เทียบกับผลความสำเร็จของโครงการ ความพร้อมของเทคโนโลยี โอกาสทางการแข่งขันทางการตลาด ความเข้มแข็งของ ทรัพย์สินทางปัญญา และนำมาหักคิดค่าเสื่อม ณ วันที่จะเปิดเผย ทำให้มูลค่าเงินที่ได้รับ จะต่ำกว่างบประมาณที่สนับสนุนทุนโครงการวิจัย
  3. สำนักงานฯ ขอหารือ ดังนี้
    3.1 สำนักงานฯ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่
    3.2 หากสำนักงานฯ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำนักงานฯ จะขอความ อนุเคราะห์ประสานงานเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวได้จากเจ้าหน้าที่หรือ หน่วยงานใดของกรมสรรพากร
แนววินิจฉัย : 1. กรณีเงินอุดหนุน หรือเงินสนับสนุนในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่สำนักงานฯ ได้รับจาก หน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน โดยหากสำนักงานฯ ไม่ได้กระทำการใด ๆ ให้แก่ผู้ให้ เงินอุดหนุนหรือเงินสนับสนุนเป็นการตอบแทน จะไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือ ให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (8) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม
  2. กรณีเงินค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ และรายรับจากการดำเนินกิจการ โดยการเรียกเก็บค่าเปิดเผยเทคโนโลยีจากการอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยจากผู้ใช้บริการ ซึ่งรายรับทุกประเภทดังกล่าวสำนักงานฯ จะนำไปใช้ในการดำเนินงานโดยไม่นำส่ง กระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ดังนั้น เงินที่สำนักงานฯ ได้รับจึงเข้าลักษณะเป็นประโยชน์หรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากการ ให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร หากสำนักงานฯ มีรายรับจากค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ และรายรับจากการดำเนินกิจการ เกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี สำนักงานฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร
  3. ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำนักงานฯ สามารถยื่นคำขอจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สถานประกอบตั้งอยู่ ตามข้อ 4 ของประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และ การออกใบทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 หรือมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ภ.พ.01) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ตามข้อ 1 ของประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 159) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2547


ขอบคุณบทความจาก ::กรมสรรพากร
 260
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์