เลขที่หนังสือ | : กค 0702/1388 |
วันที่ | : 10 มีนาคม 2566 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ |
ข้อกฎหมาย | : กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ |
ข้อหารือ | : 1. ธนาคารและบริษัทในเครือได้ดำเนินการติดต่อกับลูกค้าด้วยวิธีการโทรศัพท์ การส่ง SMS และการส่งอีเมล ตามหมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่อีเมลที่ลูกค้าได้แจ้งไว้ แทนการติดต่อ สื่อสารด้วยวิธีการส่งจดหมายในรูปแบบกระดาษทางไปรษณีย์ โดยได้นำเทคโนโลยีการพิสูจน์ ตัวตนลูกค้า (Verification) เช่น การส่ง OTP (One Time Password) ไปยังหมายเลข โทรศัพท์และที่อยู่อีเมลที่แจ้งไว้ เพื่อให้ลูกค้ายืนยันว่าหมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่อีเมลดังกล่าว เป็นของลูกค้าและสามารถใช้ติดต่อกับลูกค้าได้จริง โดยหมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่อีเมล ที่ลูกค้าได้แจ้งไว้ถือเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อ ซึ่งธนาคารและบริษัทในเครือต้องใช้ในการ ติดตามทวงถามหนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ ประกอบกับ การจำหน่ายหนี้สูญของลูกหนี้สินเชื่อรายย่อยแต่ละรายจะมีวงเงินสินเชื่อรวมเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่เกิน 200,000 บาท ต่อราย 2. ธนาคารและบริษัทในเครือจึงประสงค์จะขอใช้หลักฐานการติดตามทวงถามหนี้ในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ แทนการส่งหนังสือทวงถามหนี้ในรูปแบบกระดาษโดยวิธีทางไปรษณีย์ ลงทะเบียนตอบรับ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่กรมสรรพากรใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยวิธีการอย่างหนึ่ง อย่างใดดังต่อไปนี้ รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง 2.1 หลักฐานการติดตามทวงถามให้ลูกค้าชำระหนี้ทางโทรศัพท์ โดยติดต่อไปยังหมายเลข โทรศัพท์ที่ลูกค้าได้แจ้งไว้ ไม่ว่าการติดต่อโดยพนักงานติดตามทวงถาม หรือการติดต่อผ่าน ระบบติดตามทวงถามหนี้อัตโนมัติ ซึ่งการติดตามทวงถามดังกล่าวจะถูกบันทึกในระบบและมี ข้อมูลสำคัญที่ถูกจัดเก็บ 2.2 หลักฐานการส่ง SMS ติดตามทวงถามให้ลูกค้าชำระหนี้ ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ลูกค้า ได้แจ้งไว้และมีรายงานผลจากระบบข้อมูลปลายทางที่แสดงว่า SMS ได้ส่งให้แก่ลูกค้า สำเร็จแล้ว 2.3 หลักฐานการส่งอีเมลติดตามทวงถามให้ลูกค้าชำระหนี้ ไปยังที่อยู่อีเมลที่ลูกค้าได้แจ้งไว้ และมีรายงานผลจากระบบข้อมูลปลายทางที่แสดงว่าอีเมลได้ส่งให้แก่ลูกค้าสำเร็จแล้ว ซึ่งการ ติดตามทวงถามดังกล่าวจะถูกบันทึกในระบบและมีข้อมูลสำคัญที่ถูกจัดเก็บ ทั้งนี้ ธนาคารและบริษัทในเครือจะเก็บรักษาหลักฐานการติดตามทวงถามข้างต้นในรูปแบบ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ รอบระยะเวลาบัญชี ที่มีการจำหน่ายหนี้สูญ เพื่อให้เจ้าพนักงานประเมินสามารถตรวจสอบได้ โดยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เก็บรักษานั้นสามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้หรือแสดงได้โดย ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ |
แนววินิจฉัย | : กรณีธนาคารและบริษัทในเครือ ได้กำหนดวิธีการติดตามทวงถาม ให้ชำระหนี้ทางโทรศัพท์ หรือการส่ง SMS ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ลูกค้าได้แจ้งไว้ หรือการส่งอีเมลติดตามทวงถาม ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไปยังชื่ออีเมลที่ลูกค้าได้แจ้งไว้ รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง แทนวิธีการส่ง จดหมายในรูปแบบกระดาษทางไปรษณีย์ ซึ่งการดำเนินการติดตามทวงถามด้วยวิธีการ ดังกล่าวจะมีผลผูกพันและสามารถบังคับใช้ทางกฎหมายได้ หากได้กระทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 กรณีธนาคารและบริษัทในเครือมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า ได้มีการติดตามทวงถามไปถึงลูกหนี้ แต่ละรายตามสมควรแก่กรณีแล้ว แต่ไม่ได้รับชำระหนี้และหากจะฟ้องลูกหนี้จะต้องเสีย ค่าใช้จ่าย ไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ ก็สามารถใช้หลักฐานดังกล่าวเพื่อประกอบการ จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ตามนัยข้อ 3 และข้อ 6 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ |