ปัญหาการขจัดภาษีซ้อนของประเทศไทย เพื่อตรวจร่าง

ปัญหาการขจัดภาษีซ้อนของประเทศไทย เพื่อตรวจร่าง

"ปัญหาในทางปฏิบัติสำหรับแนววินิจฉัยตอบข้อหารือในการนำผลต่างของภาษีที่ได้เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่พึงขอเครดิตได้ที่ผู้ประกอบการไทยมีสิทธินำส่วนเกินของภาษีต่างประเทศ มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ"

            ปัจจุบันการติดต่อสื่อสาร การติดต่อเพื่อการค้า ไม่จำกัดอยู่เพียงการทำการค้าแค่เพียงในประเทศเท่านั้น ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสที่จะได้ติดต่อทำการค้ากับคู่ค้าทั่วโลกให้ง่ายดายเพียงเข้าสู่โลก Internet ทำให้มูลค่าการซื้อขายและการให้บริการผ่านโลก Internet หรือ E-Commerce มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากมาย และเพิ่มมากขึ้น ๆ ในทุก ๆ ปี

            หลายประเทศให้การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการของตนเองเข้าสู่การค้าบนโลก Internet เช่นเดียวกับประเทศไทยที่พยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ให้เข้าทำธุรกิจการค้าหรือให้บริการกับคู่ค้าต่างประเทศผ่านโลก Internet ในขณะเดียวกันหลาย ๆ ประเทศเริ่มปรับปรุงกฎหมายภาษีของตนให้สามารถจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมบนโลก Internet เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันกับการค้าภายในประเทศของตนมากขึ้นเช่นเดียวกัน

            ดังนั้นการติดต่อทำการค้าบนโลก Internet ที่เป็นธุรกรรมระหว่างประเทศ บางธุรกรรมอาจจะต้องถูกจัดเก็บภาษีหรือจำเป็นต้องเสียภาษีในประเทศคู่สัญญาเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในประเทศไทยอยู่แล้วสำหรับธุรกรรมนั้น ๆ และยังต้องเสียภาษีในประเทศคู่สัญญาอีก (ทั้งในรูปแบบภาษีเงินได้จากการประกอบกิจการในประเทศนั้น ๆ และการถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย) จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษีสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศได้ และทำให้เกิดต้นทุนทางภาษีที่สูงสำหรับผู้ประกอบการไทยและทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้เนื่องจากมีต้นทุนทางภาษีที่สูงกว่านั้นเอง
            การขจัดภาษีซ้ำซ้อนสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ เป็นหนึ่งในกลไกการบรรเทาภาระภาษีของผู้ประกอบการไทย จากการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อนระหว่างประเทศ กรมสรรพากรได้มีแนวทางการขจัดความซ้ำซ้อน ตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร มีดังนี้

  1. การเลือกบรรเทาโดยขอยกเว้นภาษีฯ (การเครดิต) ตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 18 ประกอบกับอนุสัญญาเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่ประเทศไทยทำไว้กับต่างประเทศเลือกยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ได้เสียในต่างประเทศ
  2. การเลือกบรรเทาโดยขอยกเว้นภาษีฯ (การเครดิต) พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 300 ประกอบกับ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล ฉบับที่ 65 เลือกยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้เสียภาษีไว้ในต่างประเทศ
  3. การเลือกบรรเทาภาระภาษีซ้อน โดยนำภาษีที่ได้เสียไปในต่างประเทศมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เนื่องจากรายจ่ายดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร

            ในการตอบข้อหารือที่เกี่ยวกับเรื่องการขจัดภาษีซ้ำซ้อน กรมสรรพากรให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการไทยในการเลือกใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ขึ้นกับความเหมาะสมของผู้ประกอบการไทย เช่น จะเลือกวิธีการเครดิตหากมีภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะต้องเสียในประเทศไทยตามข้อ 1 และ ข้อ 2 หรือหากไม่มีภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะต้องเสียในประเทศไทย (มีผลขาดทุนทางภาษี) ก็ให้สามารถเลือกใช้สิทธิที่จะนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
            นอกจากนั้น ตามข้อหารือของกรมสรรพากร หากจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศเกินกว่าจำนวนภาษีที่ใช้เครดิตได้ผู้ประกอบการไทยมีสิทธินำภาษีต่างประเทศส่วนเกินนี้มาหักเป็นรายจ่ายได้เพิ่มขึ้นตามหนังสือตอบข้อหารือ เลขที่ กค 0706/10858 วันที่ : 28 ธันวาคม 2548 “หากบริษัทฯ ได้นำภาษีที่ถูกจัดเก็บในประเทศคู่ค้ามายกเว้นภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 หากปรากฏว่าการใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอยกเว้น บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539” ตัวอย่างประกอบ เช่น ผู้ประกอบการไทย เสียภาษีจากธุรกรรมระหว่างประเทศในต่างประเทศจำนวน 100 บาท มีภาษีเงินได้นิติบุคคลจากธุรกรรมดังกล่าวจำนวน 80 บาท ผลต่าง 20 บาท (100-80) ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้สิทธินำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้การตอบในการให้สิทธินำผลต่างจากการขอเครดิตมาเป็นใช้สิทธิเป็นรายจ่ายได้เพิ่มเติมดูเหมือนจะเป็นคุณแก่ผู้ประกอบการในประเทศไทย
            แต่หากพิจารณาข้อจำกัดในการใช้สิทธิดังกล่าวในการนำภาษีที่ได้เสียไว้ในต่างประเทศมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องตามห้ามตามมาตร 65 ตรี (6) ก็ยังคงต้องพิจารณาการใช้สิทธิที่จะต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดตามมาตรา 65 ที่กำหนดให้ “การคำนวณรายได้และรายจ่ายตามวรรคหนึ่งให้ใช้เกณฑ์สิทธิ์โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น”

            ภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าว การที่หนังสือข้อหารือดังกล่าว ตอบว่า “ผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอยกเว้นบริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6)” ผู้ประกอบการไทยจะต้องใช้สิทธินำผลต่างดังกล่าวมาเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาที่บันทึกรายได้ที่ต้องเสียภาษีในต่างประเทศ ซึ่งหากรอบระยะเวลาบัญชีนั้นผู้ประกอบการไม่มีเงินได้อื่น ๆ ในประเทศไทยหรือจากแหล่งอื่นอีกเลยก็จะมีผลทำให้ไม่สามารถใช้สิทธินำผลต่างดังกล่าวมาเป็นรายจ่ายได้ และยังมีผลให้ไม่สามารถขจัดภาระภาษีซ้อนได้เพิ่มขึ้นเลย เนื่องจากผลจากการคำนวณกำไรสุทธิภายหลังจะทำให้ภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงเมื่อนำภาษีที่ได้เสียไปในต่างประเทศมาเครดิตก็ยังคงมีผลต่างสำหรับภาษีที่ได้เสียไปในต่างประเทศเหลืออยู่อีก

            อีกทั้งในการขจัดภาระภาษีซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นจากธุรกรรมระหว่างประเทศด้วยวิธีการเครดิตภาษีหรือการให้นำมาเป็นรายจ่าย กรมสรรพารยังกำหนด ผู้ประกอบการไทยต้องมีภาระเพิ่มขึ้นจากการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานตามที่กรมสรรพากรกำหนด ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นในการจัดเตรียมเอกสารหลักฐาน 
เป็นผลให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนในการประกอบกิจการสูงกว่าผู้ประกอบการในประเทศอื่นที่มีกฎหมายภายในที่สามารถขจัดความซ้ำซ้อนของภาษีที่เกิดขึ้นจากธุรกรรมระหว่างประเทศได้มากกว่า เช่น ประเทศสิงคโปร์ที่มีกฎหมายกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการในประเทศสิงคโปร์มีภาระต้นทุนต่ำกว่าผู้ประกอบการไทย และยังไม่มีภาระในการจัดเตรียมเอกสารเพื่อการพิสูจน์เพื่อขอใช้สิทธิเครดิตภาษี ดังกล่าวอีก

            เมื่อโลกของการทำการค้าเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้บนโลกของการทำการค้าที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว นโยบายในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยโดยรัฐบาล ไม่ควรจำกัดการสนับสนุนเพียงด้านเทคโนโลยี ด้านการเงิน ด้านการขยายตลาดแต่ควรปรับปรุงกฎหมายภาษีภายในประเทศให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศอื่น ๆ ได้ รัฐบาลควรมีนโยบายให้กรมสรรพากรกลับมาพิจารณาปรับปรุงกฎหมายภาษีให้ทันสมัยและให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกของการทำการค้า และช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับนักลงทุนในต่างประเทศได้

อบคุณบทความจาก :: สภาวิชาชีพบัญชี
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com
 228
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์