ใช้ธนบัตรถูกวิธี อย่าประทับตรา-ขีดเขียน

ใช้ธนบัตรถูกวิธี อย่าประทับตรา-ขีดเขียน



            เชื่อว่านักบัญชีหลายท่านคงจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการรณรงค์ การใช้ธนบัตรที่ถูกวิธี อย่าประทับตรา-ขีดเขียนข้อความบนธนบัตรกันมาบ้างแล้วนะคะ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้ธนบัตรอย่างถูกวิธีเพื่อให้ธนบัตรมีอายุการใช้งานอย่างเหมาะสม และเป็นการประหยัดการใช้ทรัพยากรของประเทศ

            การประทับตรา หรือการขีดเขียนข้อความลงบนธนบัตร ถือเป็นการใช้ธนบัตรที่ไม่ถูกวิธี เนื่องจากธนบัตรที่ถูกตราประทับ หรือถูกขีดเขียนจะถือเป็นธนบัตรที่เส่ื่อมสภาพ เพราะเปรอะเปรื้อนไปแล้ว ซึ่ง ธปท. จะต้องดำเนินการคัดกรองออกจากระบบเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับธนบัตรชำรุดเพราะมีอายุการใช้งานนานหรือฉีกขาด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ธนบัตรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจเป็นธนบัตรที่สะอาดและน่าใช้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยในแต่ละปี ธปท. ผลิตธนบัตรใหม่หลายพันล้านฉบับ เพื่อออกใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยกว่าร้อยละ 80 ของธนบัตรใหม่ดังกล่าวเป็นการพิมพ์เพื่อทดแทนธนบัตรที่เสื่อมสภาพไปแล้ว ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และจากการศึกษาพบว่า หากประชาชนระมัดระวังการใช้งาน โดยใช้ธนบัตรอย่างถูกวิธีไม่ประทับตรา ไม่ขีดเขียน และไม่ทำให้ฉีกขาด จะสามารถประหยัดทรัพยากรให้กับประเทศได้ถึงปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งปัจจุบันต้องเสียไป เพื่อผลิตธนบัตรใหม่ทดแทนธนบัตรที่เสื่อมสภาพไปก่อนเวลาอันควร ดังนั้น ธปท.จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้ธนบัตรอย่างถูกวิธี ในการผลิตธนบัตรใหม่ขึ้นมาทดแทนจะต้องเสียทั้งเวลา และทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตเป็นจำนวนมาก และวิธีการผลิตธนบัตรยุ่งยากพอสมควรโดยเริ่มจาก

  1. การออกแบบ
    เริ่มด้วยการกำหนดเรื่องราว ภาพ และข้อความที่จะนำมาใช้ในธนบัตร ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม และวัฒนธรรมประจำชาติ หลังจากนั้นจึงจัดองค์ประกอบภาพด้วยการเขียนลวดลายและสีของแบบธนบัตรให้คล้ายกับธนบัตรที่จะพิมพ์จริงมากที่สุด
  2. การผลิตแม่แบบแม่พิมพ์
    เป็นขั้นตอนการผลิตต้นฉบับเพื่อเป็นแม่แบบสำหรับผลิตแม่พิมพ์ธนบัตร ซึ่งมีทั้งการแกะแผ่นโลหะด้วยมือเพื่อผลิตแม่พิมพ์เส้นนูน และงานเขียนลวดลายสีพื้นด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นลายเส้นที่มีความละเอียดซับซ้อนสูงเพื่อผลิตแม่พิมพ์สีพื้น ในขั้นตอนนี้จะต้องอาศัยความประณีตและความอุตสาหะของบุคลากรเป็นพิเศษ เพื่อให้ลวดลายทุกเส้นคมชัดสวยงาม โดยเฉพาะพนักงานแกะโลหะที่ต้องได้รับการฝึกฝนทักษะจนชำนาญและสั่งสมประสบการณ์นานปี กว่าจะสามารถแกะลวดลายได้งดงาม ถูกสัดส่วนหลังจากนั้น จึงประกอบต้นฉบับทั้งหมดเข้าด้วยกันตามแบบโดยเทคนิคการถ่ายภาพทางการพิมพ์และเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้สำหรับผลิตแม่พิมพ์สีพื้น แม่พิมพ์เส้นนูน และแม่พิมพ์ลายเซ็นต่อไป

  3. การพิมพ์ธนบัตร
    ก) การพิมพ์สีพื้น
    เป็นงานขั้นตอนแรกของการพิมพ์ธนบัตร โดยใช้เครื่องพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ภาพได้ทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน ทำให้บางส่วนของลวดลายที่ตั้งใจออกแบบไว้ในตำแหน่งตรงกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตรซ้อนทับกันสนิท หรือประกอบขึ้นเป็นลวดลายที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงอย่างหนึ่ง
    ข) การพิมพ์เส้นนูน
    เป็นการพิมพ์ภาพและลวดลายต่าง ๆ ด้วยเครื่องพิมพ์แบบพิเศษที่ใช้แรงกดพิมพ์สูงและหมึกพิมพ์ซึ่งมีความเหนียวหนืดสูง เพื่อทำให้หมึกพิมพ์กองนูนบนผิวกระดาษ ทำให้ได้รายละเอียดและความอิ่มตัวของสีสูง ใช้ในการพิมพ์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ และตัวเลขแจ้งราคาด้านหน้าธนบัตร ซึ่งเป็นลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่สำคัญในการผลิตธนบัตรและสิ่งพิมพ์มีค่าอื่น
    ค) การพิมพ์เลขหมายและลายเซ็น
    ก่อนการพิมพ์ในขั้นตอนนี้ ธนบัตรจะต้องผ่านการตรวจสอบคัดแยกแผ่นที่มีข้อบกพร่องออกไป ส่วนธนบัตรที่มีคุณภาพตามมาตรฐานจึงจะส่งไปพิมพ์เลขหมายและลายเซ็น ซึ่งเป็นการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรสส์เพื่อควบคุมการออกใช้ธนบัตร ดังนั้น เลขหมายที่กำกับบนธนบัตรแต่ละฉบับที่เป็นแบบและชนิดราคาเดียวกันจะไม่ซ้ำกันเป็นอันขาดสำหรับลายเซ็นบนธนบัตรทุกฉบับตามกฎหมายกำหนดให้เป็นลายเซ็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในสมัยนั้น ๆ

  4. การตรวจสอบคุณภาพ
    การตรวจสอบคุณภาพแผ่นพิมพ์ธนบัตรถือเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่ง เพื่อให้ธนบัตรที่จะนำออกใช้มีคุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งธนบัตรทุกแผ่นทุกฉบับจะต้องผ่านการตรวจนับจำนวนทุกขั้นตอนอย่างละเอียดตั้งแต่กระดาษเปล่าจนตัดเป็นธนบัตรสำเร็จรูป โดยการคัดแยกแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
    1. แผ่นพิมพ์ดี คือ แผ่นพิมพ์ที่มีธนบัตรทุกฉบับตรงตามมาตรฐานจะส่งไปพิมพ์เลขหมายหมวดปกติ
    2. แผ่นพิมพ์ชำรุดบางส่วน คือ แผ่นพิมพ์ที่มีธนบัตรบางฉบับคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐาน จะส่งไปพิมพ์เลขหมายหมวดชำรุดบางส่วน
    3. แผ่นพิมพ์เสีย คือ แผ่นพิมพ์ธนบัตรที่คุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐาน จะถูกส่งไปทำลายโดยมีมาตรการควบคุมจำนวนทั้งก่อนและหลังการทำลายอย่างรัดกุม

  5. การผลิตธนบัตรสำเร็จรูป
    แผ่นพิมพ์ธนบัตรที่ผ่านการพิมพ์เลขหมายลายเซ็นแล้ว จะถูกส่งไปผลิตเป็นธนบัตรสำเร็จรูปด้วยการตัดเป็นรายฉบับ และเข้าสู่การรัดแหนบรัดมัด และห่อด้วยพลาสติก โดยจะมีการตรวจนับจำนวนธนบัตรในทุกขั้นตอนของการผลิต เพื่อให้ธนบัตรมีจำนวนถูกต้อง ครบถ้วน พร้อมจัดส่งสู่มือประชาชนต่อไป
    และสิ่งที่นำมาใช้ทำธนบัตรของไทยนั่นคือ กระดาษแบบพิเศษที่ทำจากผ้าฝ้าย 100% และมีตราประทับพิเศษหรือที่เราเรียกกันว่า “ลายน้ำ”ซึ่งเกิดจากการนำกระดาษเปียกมาอัดด้วยลูกกลิงก์ซึ่งติดลวดลายนูนเอาไว้ซึ่งปกติจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เมื่อนำไปส่องผ่านแสงอัลตราไวโอเลตจะเห็นเป็นแสงเรืองขึ้นมา นอกจากความยากในกระบวนการผลิตแล้ว ประเด็นสำคัญที่สุดที่เขาไม่อนุญาตให้เราผลิตธนบัตรเอง ก็เพราะการผลิตเงินธนบัตรออกมาในแต่ละครั้ง จำเป็นต้องใช้ทองคำสำรองในคลังจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างมันขึ้นมา จะเห็นได้ว่าในการผลิตธนบัตรใหม่ออกในแต่ละครั้งนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดหลาย ๆ ท่านคิด เพราะจะต้องผ่านกระบวนการมากมาย ต้องสรรหาผ้าฝ้าย 100% อีกทั้งยังต้องสำรองทองคำในคลังเพื่อสร้างความมั่นใจอีกด้วย รู้อย่างนี้แล้วพวกเราควรที่จะหันมาใส่ใจและดูแลรักษาธนบัตรให้มีอายุการใช้งานได้นาน ๆ โดยการไม่ขีดเขียน ประทับตรา เย็บด้วยลวดเย็บกระดาษ และประดิษฐ์เป็นสิ่งใด ๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถยืดอายุของธนบัตรออกไปได้ และลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตธนบัตรไปได้อีกด้วย

กระบวนการผลิตธนบัตร

1. การออกแบบธนบัตร
2. ผลิตแม่พิมพ์ธนบัตร
3. พิมพ์ธนบัตร
4. ตรวจคุณภาพแผ่นพิมพ์ธนบัตร
5. ผลิตธนบัตรสำเร็จรูปและการบรรจุหีบห่อ


อบคุณบทความจาก :: สภาวิชาชีพบัญชี
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com
 247
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์