ผู้สอบบัญชี คือ ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแสดงความเห็นต่องบการเงิน รวมถึงเปิดเผยรูปแบบและเนื้อหาในรายงานของผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นผลจากการตรวจสอบงบการเงิน โดยผู้สอบบัญชีต้องปฏิบัติงานตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชี ข้อกำหนดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานการสอบบัญชีที่เพียงพอและเหมาะสมที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชีว่า งบการเงินนั้นแสดงโดยถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินหรือไม่
จากข้อความข้างต้นถือได้ว่า มาตรฐานการสอบบัญชีเป็นมาตรฐานที่ผู้สอบบัญชีใช้ในการปฏิบัติงานตรวจสอบงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ซึ่งในปัจจุบันมาตรฐานการรายงานทางการเงินได้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อการเจริญเติบโตและความซับซ้อนของธุรกิจ มาตรฐานการสอบบัญชีก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการตรวจสอบงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีความซับซ้อนและยากมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชีมีคุณภาพยิ่งขึ้นและปรับปรุงบทบาทการใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในการปฏิบัติงานตรวจสอบเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของงบการเงินต่อผู้ใช้งบการเงินและผู้ที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ฝ่ายวิชาการ สภาวิชาชีพบัญชี จึงขอมาอัปเดตถึงแผนงานของมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศที่จะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อให้ผู้สอบบัญชีเตรียมพร้อมกับมาตรฐานการสอบบัญชีที่จะมีการปรับปรุงและออกใหม่ ดังนี้
ชื่อมาตรฐานการสอบบัญชี ระหว่างประเทศ |
วันที่มีผลบังคับใช้ ในต่างประเทศ |
คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ ในประเทศไทย |
การปรับปรุงที่สำคัญ |
มาตรฐานการสอบบัญชี ระหว่างประเทศ รหัส 540 (ปรับปรุง) – การตรวจสอบประมาณการทางบัญชี รวมถึงประมาณการทางบัญชีที่เกี่ยวกับมูลค่ายุติธรรมและการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง | 15 ธันวาคม 2562 | 15 ธันวาคม 2563 | ปรับปรุงการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการประมาณการให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับการระบุสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการประมาณการ โดยใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ |
ชื่อมาตรฐานการสอบบัญชี ระหว่างประเทศ |
วันที่คาดว่าจะออก ฉบับสมบูรณ์ |
การปรับปรุงที่สำคัญ |
มาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ รหัส 315 (ปรับปรุง) - การระบุและประเมินความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ โดยการทำความเข้าใจกิจการและสภาพแวดล้อมของกิจการ | มิถุนายน 2562 | 1. วิธีการตรวจสอบไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการผลักดันการระบุและประเมินความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญให้มีความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. ปรับปรุงให้มีความทันสมัยขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจที่มีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และวิธีการที่ผู้สอบบัญชีใช้เครื่องมือและเทคนิคอัตโนมัติ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลในการปฏิบัติขั้นตอนการตรวจสอบ 3. มุ่งเน้นให้ผู้สอบบัญชีใช้การสังเกตและสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพตลอดกระบวนการระบุและประเมินความเสี่ยง |
มาตรฐานงานบริการที่เกี่ยวเนื่องระหว่างประเทศ รหัส 4400 (ปรับปรุง) - งานการปฏิบัติงานตามวิธีการที่ตกลงร่วมกัน | ธันวาคม 2562 | 1. ขยายขอบเขตของงานบริการที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินด้วย ซึ่งจากเดิม 11ครอบคลุมงานที่เกี่ยวกับข้อมูลทางการเงินเท่านั้น 2. ปรับปรุงบทบาทของการใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในการปฏิบัติงานตามวิธีการที่ตกลงร่วมกัน 3. ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอิสระของผู้ประกอบวิชาชีพ 4. ปรับปรุงการใช้ผู้เชี่ยวชาญของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในการปฏิบัติงานตามวิธีการที่ตกลงร่วมกัน 5. ให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้คำศัพท์ในการอธิบายขั้นตอนและข้อเท็จจริงในรายงานของการปฏิบัติงานตามวิธีการที่ตกลงร่วมกัน 6. ปรับปรุงข้อจำกัดในการให้และใช้รายงานของการปฏิบัติงานตามวิธีที่ตกลงร่วมกัน |
ชื่อมาตรฐานการสอบบัญชี ระหว่างประเทศ |
วันที่สิ้นสุดการ รับฟังความคิดเห็น |
วันที่คาดว่าจะออก ฉบับสมบูรณ์ |
การปรับปรุงที่สำคัญ |
มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 220 (ปรับปรุง) - การควบคุมคุณภาพการตรวจสอบงบการเงิน | 1 กรกฎาคม 2562 | มีนาคม 2563 | 1. เพิ่มการเน้นความสำคัญของการใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในการตรวจสอบ และการสังเกตและสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ 2. อธิบายถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ 1 รวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้สอบบัญชีที่รับผิดชอบงาน (engagement partner) ตลอดการปฏิบัติงาน 3. ปรับปรุงให้ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโมเดลการส่งมอบผลการตรวจสอบ (audit delivery models) และการใช้เทคโนโลยี 4. อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมาตรฐานการสอบบัญชีระหว่างประเทศ รหัส 220 และมาตรฐานการบริหารคุณภาพระหว่างประเทศ |
มาตรฐานการบริหารคุณภาพระหว่างประเทศฉบับที่ 1 (Quality Management at Firm Level - ISQM 1) | 1 กรกฎาคม 2562 | มีนาคม 2563 | 1. เดิมชื่อมาตรฐานการควบคุมคุณภาพระหว่างประเทศ ฉบับที่ 1 (ISQC1) เปลี่ยนเป็นชื่อมาตรฐานการบริหารคุณภาพระหว่างประเทศ ฉบับที่ 1 (ISQM1) 2. มีการปรับปรุงระบบการบริหารคุณภาพของบริษัท (เดิมคือระบบการควบคุมคุณภาพ) 3. เพิ่มความรับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ของความเป็นผู้นำของสำนักงานและเพิ่มการกำกับดูแลสำนักงาน 4. ปรับปรุงมาตรฐานสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีการพัฒนาและซับซ้อนเพิ่มขึ้น รวมถึงระบุถึงผลกระทบของเทคโนโลยี เครือข่าย และการใช้ผู้บริการภายนอก 5. เพิ่มการติดตามระบบการบริหารคุณภาพที่เข้มงวดมากขึ้นและแก้ไขข้อบกพร่อง |
มาตรฐานการบริหารคุณภาพระหว่างประเทศ ฉบับที่ 2 (Engagement Quality Reviews - ISQM 2) | 1 กรกฎาคม 2562 | มีนาคม 2563 | 1. มาตรฐานฉบับนี้เป็นมาตรฐานฉบับใหม่ที่แยกออกมาจาก ISQM1 เพื่อต้องการให้มั่นใจว่าการสอบทานคุณภาพงานมีความแข็งแกร่งและสามารถสนับสนุนให้การตรวจสอบและงานอื่น ๆ มีคุณภาพระดับสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. ปรับปรุงการตั้งเกณฑ์เลือกบุคลากรมาทำหน้าที่สอบทานคุณภาพงาน 3. ปรับปรุงหน้าที่ของผู้สอบทานคุณภาพงานและการจัดทำเอกสารหลักฐาน |