สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านเขตปลอดอากร

สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านเขตปลอดอากร


1. ภาพรวม

เขตปลอดอากร คือ เขตพื้นที่ที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ โดยผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี

ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร คือ ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีให้ประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศในเขตปลอดอากร

สิทธิประโยชน์ในเขตปลอดอากร
  1. ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเข้าไปในเขตปลอดอากรในกรณี ดังนี้
    • เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบแห่งของดังกล่าวที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ โดยให้รวมถึงของที่ใช้ในการสร้าง ประกอบหรือติดตั้งโรงงานหรืออาคารในเขตปลอดอากร
    • ของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใด ที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ หรือ
    • ของที่ปล่อยออกมาจากเขตปลอดอากรอื่น
  2. ได้รับยกเว้นอากรขาออก สำหรับของที่ปล่อยออกไปจากเขตปลอดอากรเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
  3. ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้ของใดได้รับยกเว้นหรือคืนอากรเมื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หากนำของนั้นเข้าไปในเขตปลอดอากร ให้ได้รับยกเว้นหรือคืนอากร โดยให้ถือว่าของนั้นได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเวลาที่ได้นำของนั้นเข้าไปในเขตปลอดอากร
  4. ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือวัตถุดิบภายในราชอาณาจักร ซึ่งนำเข้าไปในเขตปลอดอากร เพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับของนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรในพื้นที่ต่อไปนี้
    • เขตปลอดอากร ณ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา
    • เขตปลอดอากรที่จัดตั้งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
    • เขตปลอดอากรที่จัดตั้งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมรายปี
การได้รับสิทธิประโยชน์ในเขตปลอดอากรในฐานะผู้จัดตั้งเขตปลอดอากร หรือผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมรายปี ดังนี้
  • ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับผู้จัดตั้งเขตปลอดอากร 10,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับผู้จัดตั้งเขตปลอดอากร 300,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร 5,000 บาท
  • ค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร 15,000 บาท
การแสดงใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาต
ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร และผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ต้องแสดงใบอนุญาตหรือใบแทนใบอนุญาตแล้วแต่กรณี ไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ทำการของผู้ได้รับใบอนุญาตนั้น (กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท)
ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ต้องยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดดังกล่าว

การเลิกการดำเนินการ
ผู้ได้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเลิกการดำเนินการให้แจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดีทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันก่อนวันที่จะเลิกการดำเนินการ และเมื่อแจ้งการเลิกการดำเนินการแล้วต้องหยุดการดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต กรณีเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร ต้องแจ้งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากรของตน ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท)
  • นำของออกจากเขตปลอดอากร พร้อมทั้งเสียอากรให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด หรือ
  • ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของไปเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากร หรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือจำหน่ายให้แก่ผู้นำของเข้าตามมาตรา ๒๙ หรือผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร หรือกฎหมายอื่น แล้วแต่กรณี
เมื่อได้มีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นแล้ว อธิบดีจะอนุญาตให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเลิกการดำเนินการได้ โดยใบอนุญาตสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เลิกการดำเนินการได้
กรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งได้แจ้งการเลิกการดำเนินการแล้ว แต่ไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และสิทธิประโยชน์สำหรับของที่อยู่ในเขตปลอดอากรนั้นต้องสิ้นสุดลง และต้องเสียอากรนับแต่วันที่อธิบดีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต โดยให้คำนวณอากรตามสภาพแห่งของ ราคาศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในวันที่สิทธิได้รับยกเว้นอากรสิ้นสุดลง

การพักใช้ใบอนุญาต
กรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง หรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขในใบอนุญาต อธิบดีจะมีหนังสือเตือนให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าผู้นั้นไม่ปฏิบัติตาม อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาต ซึ่งผู้ถูกพักใช้ใบอนุญาตต้องหยุดดำเนินการตามใบอนุญาตเป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด และเมื่อผู้ถูกพักใช้ใบอนุญาตนั้นได้ปฏิบัติถูกต้องแล้ว อธิบดีจึงจะสั่งยกเลิกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต

การเพิกถอนใบอนุญาต
อธิบดีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
  1. ไม่ดำเนินการภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต หรือหยุดดำเนินการติดต่อกันเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันโดยไม่ได้แจ้งให้อธิบดีทราบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีประกาศกำหนด
  2. ถูกพักใช้ใบอนุญาตตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป
  3. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต
  4. ไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด
ผลของการถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะทำให้สิทธิประโยชน์สำหรับของที่อยู่ในเขตปลอดอากรนั้น ต้องสิ้นสุดลงและต้องเสียอากรนับแต่วันที่อธิบดีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต โดยให้คำนวณอากรตามสภาพแห่งของ ราคาศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในวันที่สิทธิได้รับยกเว้นอากรสิ้นสุดลง

2. การอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร
  1. ผู้ประสงค์จะขออนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ณ สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร กรมศุลกากร แต่กรณีการยื่นคำขอ จัดตั้งเขตปลอดอากรในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรือพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สามารถยื่น ณ ด่านศุลกากร หรือสำนักงานศุลกากรที่กำกับดูแลพื้นที่ได้
  2. ผู้ประสงค์จะขออนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
    1. คุณสมบัติ
      1. เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ หรือเป็นบริษัทจำกัด หรือเป็นบริษัทมหาชนจำกัด กรณีเป็นบริษัทจำกัดจะต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วเป็นเงินไม่ต่ำกว่าหกสิบล้านบาท เว้นแต่ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากรในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วเป็นเงินไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท
      2. มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง หรือมีสิทธิบริหารจัดการในที่ดินหรือพื้นที่ที่ขอจัดตั้ง หรือมีหลักฐานแสดงการจะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือพื้นที่ ในกรณีที่ดิน ที่ขอจัดตั้งมีการจดทะเบียนจำนอง จะต้องให้ผู้รับจำนองยินยอมให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นเขตปลอดอากรได้
      3. เป็นกิจการที่มีฐานะการเงินที่มั่นคง โดยพิจารณาจากงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรอง ซึ่งต้องไม่มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนใหม่และยังไม่มีงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรอง ให้เสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการประกอบการพิจารณาแทน
    2. ลักษณะต้องห้าม
      1. เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร
      2. เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วก่อนวันยื่นคำขออนุญาต เกินสามปี
  3. ในกรณีที่พนักงานศุลกากรตรวจสอบแล้วเห็นว่า รายละเอียดในคำขอ เอกสารและหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน จะรับคำขอไว้พิจารณา และตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นคำขอ และความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะจัดตั้งเขตปลอดอากร แล้วเสนอความเห็นพร้อมคำขอ เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำขอ เมื่ออธิบดีมีคำสั่งอนุญาต จะแจ้งคำสั่งดังกล่าวแก่ผู้ยื่นคำขอ
  4. เมื่อผู้ยื่นคำขอได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งอนุญาตแล้ว ต้องมาจัดทำสัญญาประกันและทัณฑ์บนเพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมรายปี รวมทั้งวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารจำนวนห้าล้านบาท เว้นแต่การจัดตั้งเขตปลอดอากรในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ผู้ยื่นคำขอต้องวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารจำนวนสองล้านบาท ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง กรณีไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ครบถ้วน ให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอไม่ประสงค์ขอรับใบอนุญาต กรมศุลกากรจะจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
  5. อธิบดีจะลงนามรับสัญญาประกันและทัณฑ์บนและออกใบอนุญาตภายในสิบห้าวันทำการ นับแต่วันที่ผู้ยื่นคำขอได้ดำเนินการจัดทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมรายปี และวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารแล้ว
  6. เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วให้ดำเนินการจัดตั้งเขตปลอดอากรภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยก่อนขอเปิดดำเนินการเขตปลอดอากร ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก อาคาร สถานที่ อุปกรณ์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบควบคุมความปลอดภัย และระบบต่าง ๆ ที่จำเป็น ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
  7. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอเปิดดำเนินการเขตปลอดอากร
    1. ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่จำเป็นตามความเหมาะสมกับลักษณะและขนาดของกิจการ แต่ละประเภทบนพื้นฐานทั่วไป ได้แก่ ระบบถนนภายในและถนนเชื่อมต่อกับถนนหรือทางสาธารณะภายนอกเขตปลอดอากร ระบบระบายน้ำฝนหรือระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสียและระบบควบคุมและกำจัดมลพิษ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบไฟฟ้า ระบบดับเพลิงและระบบป้องกันอุบัติภัย ระบบกำจัดกากอุตสาหกรรม มูลฝอย และสิ่งปฏิกูล ระบบติดตามตรวจสอบมลพิษและคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบบรักษาความปลอดภัย
    2. ผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องเตรียมสถานที่ ให้มีอาคาร สิ่งก่อสร้าง เครื่องมือ เครื่องใช้อุปกรณ์สำนักงาน ได้แก่ ประตูเขตปลอดอากร มีรั้วรอบขอบชิดที่เหมาะสม อาคารสำนักงานศุลกากร โดยมีอุปกรณ์สำนักงาน ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบควบคุมการรับมอบ-ส่งมอบ การขนย้าย การเก็บรักษา การควบคุมและตรวจปล่อยสินค้า ระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) สถานที่ตรวจของเข้า–ออก สถานีตรวจสอบ (Checking Post) ที่พักอาศัยของพนักงานศุลกากร ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการส่งข้อมูลรายงานยืนยันการโอนย้ายของเข้าออกเขตปลอดอากร (Confirmation of goods report)
    3. ผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องจัดให้มีป้ายชื่อสถานที่เขตปลอดอากร ทำด้วยวัสดุที่มั่นคง แข็งแรง
  8. เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอเปิดดำเนินการ เขตปลอดอากรแล้ว ให้แจ้งพนักงานศุลกากร ณ สำนักงานศุลกากรที่ได้ยื่นคำขออนุญาต เพื่อนัดหมายไปตรวจสอบความพร้อมของสถานที่พร้อมทั้งยื่นเอกสารและหลักฐานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด เมื่อพนักงานศุลกากร ได้ตรวจสอบความพร้อมของสถานที่ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแล้ว จะเสนอความเห็นต่ออธิบดีเพื่อพิจารณา กรณีที่อธิบดีเห็นว่าเปิดดำเนินการได้ จะมีหนังสือแจ้งเปิดดำเนินการเขตปลอดอากร พร้อมทั้งออกประกาศกรมศุลกากร และคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาต โดยผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาประกันและทัณฑ์บน
3. การอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร
  1. ผู้ประสงค์จะขออนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ณ สำนักสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร กรมศุลกากร แต่กรณีการยื่นคำขอจัดตั้งเขตปลอดอากรในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรือพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สามารถยื่น ณ ด่านศุลกากร หรือสำนักงานศุลกากรที่กำกับดูแลพื้นที่ได้
  2. ผู้ประสงค์จะขออนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
  3. (1) คุณสมบัติ
    1. เป็นนิติบุคคล กรณีเป็นบริษัทจำกัดต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท เว้นแต่กรณีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากรในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรือพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท
    2. ได้รับความยินยอมให้ประกอบกิจการจากผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร
    3. เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือพื้นที่ที่ขอประกอบกิจการ ในเขตปลอดอากร
    4. เป็นกิจการที่มีฐานะการเงินที่มั่งคง โดยพิจารณาจากงบการเงินที่ผู้สอบบัญชี รับอนุญาตรับรอง ซึ่งต้องไม่มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนใหม่ต้องเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการประกอบการพิจารณาด้วย
    5. ต้องดำเนินกิจการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตปลอดอากร
    (2) ลักษณะต้องห้าม
    1. เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต
    2. เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วเกิน ๓ ปีก่อนวันยื่นคำขอรับใบอนุญาต
  4. ผู้ยื่นคำขอมีหน้าที่
    1. จัดให้มีระบบการควบคุมสินค้าคงคลังที่เหมาะสมกับประเภทกิจการเกี่ยวกับการนำของเข้าการส่งของออกและของคงเหลือ และสามารถจัดทำรายงานตามแบบมาตรฐานหรือระบบควบคุมที่ทันสมัย
    2. จัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อให้พนักงานศุลกากร ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน เช่น ระบบการเก็บเอกสารข้อมูลการนำของเข้าและส่งของออก การจำหน่ายในประเทศ การใช้สิทธิลดอัตราอากรและการยกเว้นอากร การทำลาย และระบบกล้องวงจรปิดที่มีประสิทธิภาพ
    3. ในกรณีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประเภทพาณิชยกรรม ต้องมีหนังสือยินยอมส่งข้อมูล
    4. รายงานยืนยันการโอนย้ายของเข้าไปในและออกมาจากเขตปลอดอากร เพื่อส่งรายงานยืนยันการโอนย้ายของเข้าไปในและออกมาจากเขตปลอดอากรให้แก่กรมศุลกากร
  5. ในกรณีที่พนักงานศุลกากรตรวจสอบแล้วเห็นว่ารายละเอียดในคำขอ เอกสารและหลักฐานถูกต้องและครบถ้วน จะรับคำขอไว้พิจารณา และตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นคำขอ และการดำเนินการตามข้อ 3.3 แล้วเสนอความเห็นพร้อมคำขอ เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ต่ออธิบดี เพื่อพิจารณาภายในสิบห้าวันทำการนับแต่วันที่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นคำขอ และการดำเนินการตามข้อ 3.3 แล้ว เมื่ออธิบดีมีคำสั่งอนุญาต จะแจ้งคำสั่งดังกล่าวแก่ผู้ยื่นคำขอ
  6. เมื่อผู้ยื่นคำขอได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งอนุญาตแล้ว ต้องมาจัดทำสัญญาประกันและทัณฑ์บนเพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมรายปี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง กรณีไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ครบถ้วน ให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอไม่ประสงค์ขอรับใบอนุญาต กรมศุลกากรจะจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ เมื่อผู้ยื่นคำขอได้ดำเนินการจัดทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน และชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมรายปีถูกต้องครบถ้วนแล้วอธิบดีจะลงนาม รับสัญญาประกันและทัณฑ์บนและออกใบอนุญาต
4. พิธีการศุลกากรของเขตปลอดอากร
  1. การนำของเข้าเก็บในเขตปลอดอากร
    1. การนำของเข้าจากต่างประเทศ – ให้จัดทำใบขนสินค้า Type 0 และระบุการใช้สิทธิประโยชน์ของเขตปลอดอากรในใบขนสินค้าด้วย
    2. การรับโอนของจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรอื่น เช่นรับโอนของตามมาตรา 29/คลังสินค้าทัณฑ์บน/เขตปลอดอากรอื่น/เขตประกอบการเสรี/ของที่ได้รับการส่งเสริมบีโอไอ – ให้จัดทำใบขนสินค้า Type D และระบุการใช้สิทธิประโยชน์ของเขตปลอดอากรในใบขนสินค้าด้วย
    3. การนำของจากภายในประเทศ – ให้จัดทำคำร้องแบบกศก. 122 หรือใบขนสินค้า Type D โดยไม่ต้องระบุการใช้สิทธิประโยชน์ของเขตปลอดอากรในใบขนสินค้า
  2. การนำของออกจากเขตปลอดอากร
    1. การนำของออกไปต่างประเทศ - ให้จัดทำใบขนสินค้า Type 1
    2. การโอนของไปยังสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรอื่น
      • โอนไปเขตปลอดอากรอื่น/เขตประกอบการเสรี - ให้จัดทำใบขนสินค้า Type D
      • โอนไปคลังสินค้าทัณฑ์บน/ของที่ได้รับการส่งเสริมบีโอไอ/ของตามมาตรา 29 - ให้จัดทำใบขนสินค้า Type C
    3. การนำของเข้าภายในประเทศ – ให้จัดทำใบขนสินค้า Type P เพื่อชำระค่าภาษีอากร ตามสภาพแห่งของ ราคาศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ปล่อยของนั้นออกไปจากเขตปลอดอากร
    4. การขออนุมัติทำลายของ – ให้จัดทำคำร้องเพื่อขออนุมัติทำลายของและนำไปตัดบัญชีของคงคลังต่อไป
  3. ระยะเวลาการเก็บของในเขตปลอดอากร โดยของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและเก็บในเขตปลอดอากร ได้รับสิทธิยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรให้เก็บของในเขตปลอดอากรได้ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่นำเข้าเก็บครั้งแรกและสามารถขยายระยะเวลาการเก็บของได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ ทั้งนี้ไม่นับระยะเวลาการเก็บของที่เป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมและ/หรือพาณิชยกรรม
5. หน้าที่ของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในเขตปลอดอากร
  1. จัดทำรายงานประจำงวด 6 เดือน ตามรูปแบบที่กรมศุลกากรกำหนด
  2. อำนวยความสะดวกให้พนักงานศุลกากรเข้าตรวจนับของคงเหลือประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  3. การวางค้ำประกัน
    1. กรณีของที่มีความเสี่ยง
      • รถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ จำนวน 5 ล้านบาท
      • ของอื่น จำนวน 1 ล้านบาท
    2. กรณีผลการดำเนินงานขาดทุน
      • ขาดทุนเกินทุนจดทะเบียนให้วางค้ำประกันร้อยละ 3 ของมูลค่าของคงเหลือ
      • ขาดทุนเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนให้วางค้ำประกันร้อยละ 1 ของมูลค่าของคงเหลือ
  4. ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศกรมศุลกากร อย่างเคร่งครัด



อบคุณบทความจาก :: กรมศุลกากร
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com
 372
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์