สรุปประเด็นสำคัญ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน และการตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน รวมจำนวน 3 ฉบับ
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า (TFRS 15)
TFRS 15 มีผลบังคับใช้สำหรับรอบระยะเวลารายงานที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป โดยอนุญาตใหนำมาใช้ก่อนวันที่มีผลบังคับใช้ได้
TFRS 15 กำหนดหลักการสำหรับการรายงานข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงิน เกี่ยวกับ ลักษณะ จำนวนเงิน จังหวะเวลา และความไม่แน่นอนของรายได้ และกระแสเงินสดจากสัญญาของกิจการที่ทำกับลูกค้า การถือปฏิบัติตาม TFRS 15 กิจการรับรู้รายได้เพื่อแสดงการส่งมอบสินค้าหรือบริการที่สัญญาให้ลูกค้า ในจำนวนเงินที่สะท้อนถึงสิ่งตอบแทนที่กิจการคาดว่าจะมีสิทธิได้รับจากการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการนั้นๆ
ภายใต้การรับรู้รายได้ตาม TFRS 15 กิจการต้องถือปฏิบัติตามหลักการรับรู้รายได้ 5 ขั้นตอนดังนี้
- ขั้นตอนแรก : ระบุสัญญาที่ทำกับลูกค้า
- ขั้นที่สอง : ระบุภาระที่ต้องปฏิบัติในสัญญา (Performance Obligations) ภาระที่ต้องปฏิบัติคือคำสัญญาหรือข้อตกลงที่จะส่งมอบสินค้าหรือบริการที่แตกต่างกันให้แก่ลูกค้า
- ขั้นที่สาม : กำหนดราคาของรายการ โดยราคาของรายการคือจำนวนของสิ่งตอบแทนในสัญญาที่กิจการคาดว่าจะมีสิทธิได้รับเป็นการแลกเปลี่ยนกับการส่งมอบสินค้าหรือบริการตามคำสัญญาให้ลูกค้าในกรณีที่สิ่งตอบแทนผันแปรได้ กิจการต้องประมาณจำนวนสิ่งตอบแทนที่กิจการจะมีสิทธิที่จะได้รับเป็นการแลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือบริการตามคำสัญญาที่ให้กับลูกค้า
- ขั้นที่สี่ : ปันส่วนราคาของรายการให้กับภาระที่ต้องปฏิบัติที่รวมอยู่ในสัญญาโดยใช้เกณฑ์ของราคาขายแบบเอกเทศของสินค้าหรือบริการที่แตกต่างกันตามคำสัญญาในสัญญา
- ขั้นที่ห้า: รับรู้รายได้เมื่อเมื่อกิจการได้ปฏิบัติ (หรือขณะปฏิบัติ) ตามภาระที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาแล้วโดยการส่งมอบสินค้าหรือบริการที่สัญญาให้ลูกค้า (ซึ่งเป็นเวลาที่ลูกค้าได้การควบคุมสินค้าหรือบริการนั้น) ภาระที่ต้องปฏิบัติอาจแล้วเสร็จ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (Point in time) (สำหรับกรณีคำสัญญาการส่งมอบสินค้าทั่วๆ ไปให้ลูกค้า) หรือตลอดช่วงเวลาหนึ่ง (Over time) (สำหรับกรณีคำสัญญาการส่งมอบบริการทั่วๆ ไปให้ลูกค้า) สำหรับกรณีภาระที่ต้องปฏิบัติแล้วเสร็จในตลอดช่วงเวลาหนึ่ง กิจการรับรู้รายได้ ในตลอดช่วงเวลาหนึ่งดังกล่าวโดยการเลือกวิธีที่เหมาะสมสำหรับการวัดความก้าวหน้าของภาระที่ต้องปฏิบัติที่แล้วเสร็จ
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินมาใช้เป็นครั้งแรก (TFRS 1)
TFRS 1 ระบุถึงข้อกำหนดในการจัดทำงบการเงินฉบับสมบูรณ์สำหรับกิจการที่ต้องการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS) มาใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งรวมถึงรอบระยะเวลารายงานของกิจการที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินเป็นครั้งแรกและงบการเงินสำหรับปีก่อนหน้า
ทั้งนี้กิจการต้องใช้นโยบายการบัญชีเดียวกันตลอดรอบระยะเวลารายงานทั้งหมดที่นำเสนอในงบการเงินของกิจการที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินเป็นครั้งแรก นโยบายการบัญชีดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินแต่ละฉบับที่มีผลบังคับใช้ ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานของกิจการที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินเป็นครั้งแรก
TFRS 1 ให้ข้อยกเว้นสำหรับข้อกำหนดในการปฏิบัติตามวิธีปรับย้อนหลังงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลารายงานก่อนในบางเรื่องเป็นการเฉพาะ ในกรณีที่ต้นทุนของการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสูงกว่าประโยชน์ที่ผู้ใช้งบการเงินได้รับ
TFRS 1 ยังได้กำหนดข้อห้ามในการปฏิบัติตามวิธีปรับย้อนหลังงบการเงินในบางเรื่อง โดยเฉพาะในกรณีที่การใช้วิธีปรับย้อนหลังกำหนดให้ใช้ดุลยพินิจของผู้บริหารเกี่ยวกับสถานการณ์ในอดีต หลังจากที่ทราบผลลัพธ์ของรายการดังกล่าวแล้ว
TFRS 1 ระบุถึงข้อกำหนดที่ให้เปิดเผยข้อมูลที่อธิบายถึงวิธีการเปลี่ยนแปลงจากหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปที่ใช้ก่อนหน้ามาใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานทางการเงิน และกระแสเงินสดของกิจการที่ได้รายงาน
การตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 22 เรื่อง รายการที่เป็นเงินตราต่างประเทศและสิ่งตอบแทนจ่ายล่วงหน้า (TFRIC 22)
TFRIC 22 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562
TFRIC 22 อธิบายว่าควรนำอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราใดมาใช้กับรายการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งตอบแทนที่ได้จ่ายหรือที่ได้รับล่วงหน้าเป็นเงินตราต่างประเทศ
ขอบคุณบทความจาก :: สภาวิชาชีพบัญชี
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com