การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร

การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร



  ตามที่ได้มีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 โดยมีผลใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 เป็นต้นไป ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.18/2530 ฯ ลงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2530 กำหนดให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตั้งแต่วันที่1 กันยายน 2530 เป็นต้นไป นั้น 

                บัดนี้ ได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 175 (พ.ศ.2530) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้เพื่อขยายขอบเขตการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น อันจะมีส่วนขยายฐานภาษีออกไป และสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้มีเงินได้ด้วยกัน ตลอดจนผ่อนคลายภาระในการชำระภาษีจำนวนมากในตอนสิ้นปี และการหลีกเลี่ยงภาษีอากรได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงจำเป็นต้องแก้ไขคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว โดยกรมสรรพากรได้ออกคำสั่ง ที่ ท.ป.19/2530 ฯ ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2530 

                กรมสรรพากรจึงประกาศมาเพื่อทราบทั่วกันว่า สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินบางประเภทดังต่อไปนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2530 เป็นต้นไป ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้ คือ 

                ข้อ 1 กรณีจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ถ้าผู้จ่ายเป็นธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ได้จ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย หักภาษี ณ ที่จ่าย ยังคงให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 เหมือนเดิม แต่ถ้าจ่ายให้กับมูลนิธิ หรือสมาคมที่มิใช่มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเดิมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 5.0 ได้กำหนดอัตราใหม่เป็นให้หักในอัตราร้อยละ 10.0 

                ข้อ 2  กรณีจ่ายเงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (แต่ไม่รวมถึงกิจการร่วมค้า) ถ้าผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยกองทุนรวมสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณชิยกรรม หรืออุตสาหกรรม จ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย หรือจ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้กำหนดอัตราใหม่เป็นให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 แต่ถ้าผู้รับ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้จ่ายไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 

                ข้อ 3  กรณีจ่ายค่าเช่า หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สินแต่ไม่รวมถึงค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ ถ้าผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น จ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้รับดังต่อไปนี้ ได้กำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนี้ คือ

                        (1) ผู้รับเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้หักในอัตราร้อยละ 5.0

                        (2) ผู้รับเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้หักในอัตราร้อยละ 5.0

                        (3) ผู้รับเป็นมูลนิธิหรือสมาคมที่มิใช่มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้หักภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 

                ข้อ 4  กรณีจ่ายเงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม เดิมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 2.0 ได้กำหนดอัตราใหม่เป็นให้หักภาษีในอัตราร้อยละ 3.0 

                ข้อ 5  กรณีจ่ายค่าจ้างทำของ ถ้าผู้จ่ายเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ได้กำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 สำหรับการจ่ายเงินได้ดังกล่าวให้แก่ผู้รับดังต่อไปนี้

                        (1) ผู้รับซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะค่าจ้างทำของที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) คือ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุน ด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญ นอกจากเครื่องมือ หรือค่าจ้างทำของอย่างอื่นที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

                        (2) ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยแต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม สำหรับค่าจ้างทำของทุกอย่าง

                        (3) ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย สำหรับค่าจ้างทำของทุกอย่าง

                        ส่วนการจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มิได้มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย ยังคงให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 5.0 เหมือนเดิมตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.8/2528 ฯ ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2528 

                ข้อ 6  กรณีจ่ายรางวัลในการประกวด การแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน ยังคงให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 5.0 เหมือนเดิม 

                ข้อ 7  กรณีจ่ายเงินได้ให้แก่นักแสดงสาธารณะ คือ นักแสดงละคร ภาพยนตร์วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ เดิมให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ได้กำหนดอัตราใหม่เป็นให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 

                ข้อ 8  กรณีจ่ายค่าโฆษณา ยังคงให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 2.0 เหมือนเดิม 

                ข้อ 9  กรณีจ่ายค่าซื้อสัตว์น้ำ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตและส่วนต่าง ๆ ของสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะสดหรือแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อรักษาไว้มิให้เปื่อยเน่าในระหว่างการขนส่ง ถ้าผู้จ่ายเป็นบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเฉพาะกรณีที่ผู้จ่ายเป็นผู้ส่งออก หรือผู้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากสัตว์น้ำ และผู้ผลิตอยู่ในบังคับต้องขออนุญาตตั้งโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานได้กำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 

                ข้อ 10  การจ่ายเงินทุกกรณีดังกล่าว ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องนำส่งภาษีที่ต้องหักด้วยแบบ ภ.ง.ด.3 สำหรับกรณีผู้ถูกหักที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือแบบ ภ.ง.ด.53 สำหรับกรณีที่ผู้หักมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่ว่าการอำเภอหรือเขตท้องที่ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนที่จ่ายไม่ว่าจะได้หักภาษีดังกล่าวไว้แล้วหรือไม่ สำหรับการจ่ายเงินให้แก่ผู้รับรายหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป และเมื่อได้หักภาษีไว้แล้วผู้หักภาษีจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 2 ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกันให้แก่ผู้ถูกหักภาษีด้วย 

                ในกรณีมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดติดต่อสอบถามได้ที่กองกฎหมายและระเบียบ หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมสรรพากร สำนักงานสรรพากรเขต สำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ สำนักงานสรรพากรจังหวัด สำนักงานสรรพากรอำเภอหรือเขต แห่งหนึ่งแห่งใดก็ได้

ขอบคุณบทความจาก :: กรมสรรพากร
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 356
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์