เงินได้พึงประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เงินได้พึงประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


เงินได้พึงประเมิน คือ เงินได้ 8 ประเภทที่ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ม.40(1) ถึง ม.40(8) โดยเงินได้พึงประเมินทั้ง 8 ประเภทจะถูกแบ่งกลุ่มตามลักษณะอาชีพหรืองานที่ทำให้เกิดรายได้นั้นๆ เพื่อใช้สำหรับการคำนวณภาษีและการหักค่าใช้จ่ายให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

เนื่องจากกฎหมายมองว่าแต่ละอาชีพมีต้นทุนและรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน เงินได้พึงประเมิน จึงเป็นสิ่งที่กำหนดว่าผู้มีเงินได้จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ด้วยวิธีไหนและหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดเท่าไหร่ รวมถึงกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี อย่างเช่น การที่เงินได้พึงประเมินบางประเภทต้องยื่นภาษีครึ่งปีในขณะที่เงินได้บางประเภทไม่ต้องยื่น

เงินได้พึงประเมิน 8 ประเภท ได้แก่

มาตรา 40 (1) เงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
มาตรา 40 (2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือการรับทำงานให้เป็นครั้งคราว ได้แก่ ค่าจ้างฟรีแลนซ์ ค่านายหน้า ค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียม เบี้ยประชุม
มาตรา 40 (3) เงินได้จากค่า Goodwill (สินทรัพย์ไม่มีตัวตนอย่างทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ) ได้แก่ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิบัตร ค่าความนิยม ค่าทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า สูตร ค่าเฟรนไชส์ และทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนอื่นๆ
มาตรา 40 (4) เงินได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล ส่วนแบ่งกำไร
มาตรา 40 (5) เงินได้และประโยชน์จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อ และการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน
มาตรา 40 (6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ได้แก่ โรคศิลป กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี และประณีตศิลปกรรม
มาตรา 40 (7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
มาตรา 40 (8) เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เกษตร อุตสาหกรรม ขายอสังหาริมทรัพย์ และเงินได้ที่ไม่ได้ระบุอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7


ขอบคุณบทความจาก :: กรมสรรพากร
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com

 298
ผู้เข้าชม
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์