• Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/5474 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

เลขที่หนังสือ กค 0702/5474 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

  • Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/5474 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

เลขที่หนังสือ กค 0702/5474 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

เลขที่หนังสือ : 0702/5474
วันที่ : 16 สิงหาคม 2562
เรื่อง : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินได้
ข้อกฎหมาย : มาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ            บริษัท ฯ ขออนุมัติหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินได้ มีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
           1. บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการรับขนพัสดุทางอากาศระหว่างประเทศ โดยอากาศยานแบบด่วนพิเศษ (Express)
           2. บริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นนิติบุคคล สำหรับค่าบริการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศและค่าบริการอื่น เนื่องจากบริษัทฯ มีลูกค้าเป็นจำนวนมากและลูกค้าของบริษัทฯ มีการชำระเงินมายังบริษัทฯ หลายช่องทาง เช่น การโอนเงินผ่านธนาคารด้วยระบบ Internet-banking และ Mobile-banking ชำระเงินออนไลน์ด้วยบัตรเครดิตและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) รวมทั้งชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารด้วยใบนำฝากแบบพิเศษ (Bill payment) และไทยสแตนดาร์ดคิวอาร์ บริษัทฯ จึงประสบปัญหาการติดตามและรวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย นอกจากนั้น ลูกค้าของบริษัทฯ หลายรายขาดความรู้ความเข้าใจ ในการหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทำให้การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่ถูกต้องครบถ้วน
           3. เพื่อเป็นการบรรเทาภาระในการติดตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลดขั้นตอนกระบวนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งภาษีให้ถูกต้องและครบถ้วน บริษัทฯ ขออนุมัติดังต่อไปนี้
           3.1 ให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนของลูกค้าเพื่อดำเนินการหักและนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน โดยบริษัทฯ จะปฏิบัติ ดังนี้
           (1) บริษัทฯ จะมีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) แจ้งไปยังลูกค้ามีสาระสำคัญว่า “บริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายของค่าบริการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือค่าบริการอื่น ๆ พร้อมทั้งนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายต่อกรมสรรพากร และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายต่อกรมสรรพากรแทนผู้จ่ายเงิน” โดยบริษัทฯ จะกำหนดระยะเวลาให้ลูกค้าตอบรับทาง E-mail และให้ถือว่า E-mail ตอบรับเป็นข้อตกลงแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนได้
           (2) บริษัทฯ ขออนุมัติไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นรายฉบับทุกครั้งที่มีการรับชำระค่าบริการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือค่าบริการอื่น แต่บริษัทฯ จะจัดทำรายละเอียดการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยมีรายการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
               (ก) คำว่า “รายละเอียดรายการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ประจำเดือน ... พ.ศ. ....” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
               (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวภาษีอากรของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยมีข้อความว่า “ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้”
               (ค) ประเภทเงินได้
               (ง) ชื่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนเงินภาษีที่หักไว้
           3.2 บริษัทฯ ขออนุมัติให้ถือว่าหนังสือแจ้งและตอบรับทาง E-mail การแต่งตั้งตัวแทนหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ระหว่างบริษัทฯ กับลูกค้าตาม 3.1 (1) ข้างต้น เป็นการรับรองว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนลูกค้า โดยบริษัทฯ ไม่ต้องออกเอกสารใด ๆ ให้แก่ลูกค้าเพื่อยืนยันหรือรับรอง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายอีก
           3.3 บริษัทฯ ขออนุมัตินำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พร้อมยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด.53) โดยระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ว่า “บริษัทฯ ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงิน” ในใบแนบแบบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งระบุชื่อผู้จ่ายเงิน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีเงินได้ที่หัก และให้ถือว่าเอกสารรายละเอียดดังกล่าวเป็นใบต่อหรือใบแนบแบบ ภ.ง.ด.53 โดยจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ และให้ถือว่าเป็นบัญชีพิเศษแสดงรายการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษี ของผู้จ่ายเงินด้วย
           3.4 บริษัทฯ ขออนุมัติใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย            1. กรณีที่บริษัทฯ ได้รับเงินค่าบริการขนส่งพัสดุทางอากาศระหว่างประเทศโดยอากาศยานและค่าบริการอื่น ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ลูกค้าผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/1 (2) และข้อ 12/4 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยลูกค้ามีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับบริษัทผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง มาตรา 59 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
           2. กรณีที่บริษัทฯ มีความประสงค์เป็นตัวแทนของลูกค้า เพื่อออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนลูกค้า ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการกระทำการแทนตัวการ บริษัทฯ มีสิทธิกระทำได้ตามมาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยลูกค้าจะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทนและมอบอำนาจให้บริษัทฯ กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร
           3. กรณีที่บริษัทฯ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินแล้ว กรมสรรพากรผ่อนผัน ให้ผู้จ่ายเงินไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นรายฉบับทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน แต่บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่มี การจ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว และต้องจัดทำรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย รายละเอียดของรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
               (ก) คำว่า “รายละเอียดรายการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ประจำเดือน ... พ.ศ. ....” ในที่ที่เห็นได้ชัดเจน
               (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยมีข้อความว่า “ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้”
               (ค) ประเภทเงินได้
               (ง) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนเงินภาษีที่หักไว้
               (จ) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย
           4. เพื่อเป็นการรับรองว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินแล้วให้บริษัทฯ ระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงิน หรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี โดยมีข้อความว่า “บริษัทฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ ... เป็นจำนวน ... บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป” ซึ่งบริษัทฯ จะต้องจัดให้มีการ Scan หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจไว้ในใบเสร็จรับเงิน หรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
           5. ให้บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยระบุในช่องผู้มีหน้าที่ หักภาษี ณ ที่จ่ายว่า “บริษัทฯ ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงิน” ในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งระบุชื่อผู้จ่ายเงิน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินจำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีที่หัก และให้ถือว่าเอกสารรายละเอียดดังกล่าวเป็นใบต่อหรือใบแนบแบบ ภ.ง.ด.53 ด้วย ซึ่งจะจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ และให้ถือว่าเป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและการนำส่งภาษีตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่ายมีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531
           6. ให้บริษัทฯ ใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด.53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ที่รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษี ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากรได้
เลขตู้ : 82/40877


ขอบคุณบทความจาก :: https://www.rd.go.th 
ประกาศบทความโดย :: www.prosofterp.com
 618
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores