เลขที่หนังสือ | : 0702/5982 |
วันที่ | : 1 สิงหาคม 2561 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางวิชาการ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | 1.มหาวิทยาลัย จ.ได้รับจ้าง สำนักงาน (องค์การมหาชน) สนช..เพื่อดำเนินโครงการการแข่งขัน Startup ระดับประเทศ (Startup Thailand League)เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 กำหนดระยะเวลาการจ้าง 6 เดือน ค่าจ้างตามสัญญารวมค่าใช้จ่ายจำนวน 5,300,000.00 บาท โดย สนช. จะจ่ายค่าจ้างให้กับมหาวิทยาลัยฯ ภายหลังการส่งมอบผลงานแก่คณะกรรมการตรวจการจ้างและเมื่อคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับผลงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 2. มหาวิทยาลัยฯ ได้รับจ้าง สสว.เพื่อดำเนินการโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ปี 2560 ค่าจ้างตามสัญญาจำนวน 13,990,000.00 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 โดยคู่สัญญา 2 ฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อให้ได้ตัวชี้วัดตามผลผลิต และผลลัพธ์ของโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ปี 2560 โดยมหาวิทยาลัยฯมีขอบเขตดำเนินงาน ดังนี้ 2.1 จัดทำแนวทาง แผนการดำเนินงาน และภาพรวมโครงการพัฒนา เพื่อให้ สสว. ใช้เป็นแนวทางการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานให้เป็นไป ตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ผลผลิต ผลลัพธ์ของโครงการตามแบบฟอร์มที่กำหนด 2.2 การประชุมเพื่อวางแผนการดำเนินงาน โดยประสานกับหน่วยงานสนับสนุนเพื่อจัดประชุม วางแผนการดำเนินงาน การรับสมัคร การกำหนดเกณฑ์คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการในทุกกิจกรรม 2.3 การประชาสัมพันธ์ ประสานหน่วยงานร่วมดำเนินการที่รับผิดชอบจัดงานแถลงข่าวการเปิด - ปิดโครงการ เพื่อประสานผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ เชิญผู้แทนจากสมาคม หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SMEs เข้าร่วมงาน รวมทั้งคัดเลือกสินค้าของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และนำผลิตภัณฑ์ดีเด่น ร้อยละ 20 ของสินค้าที่พัฒนาแล้ว เข้าร่วมงานปิดโครงการ 2.4 จัดทำหลักเกณฑ์การรับสมัคร และการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ เช่น จัดประชุมกำหนดเกณฑ์การรับสมัครและคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย กำหนดรูปแบบ วิธีในการรับสมัครและคัดเลือกในพื้นที่เป้าหมาย เป็นต้น 2.5 การรับสมัครผู้ประกอบการ SMEs ภาคการเกษตร และ SMEs ทั่วไป จำนวนไม่น้อยกว่า500 รายตามกลุ่มเป้าหมาย โดยประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตร (เฉพาะในภาคการเกษตร) และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และผู้แทนสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SMEs เพื่อแจ้งให้สมาชิกทราบ 2.6 การจัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารจัดการให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็น SMEs ภาคการเกษตร และ SMEs ทั่วไป จำนวนไม่น้อยกว่า 500 ราย ด้วยการให้ความรู้ด้านการตลาด และด้านอื่น ๆ เช่น การเงิน บัญชี การผลิต การบริหารจัดการ การเตรียมความพร้อมการขอกู้เงิน ภาษี เป็นต้น 2.7 ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนธุรกิจ โดยคัดเลือกจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมตามข้อ 2.6 จำนวนไม่น้อยกว่า 500 ราย แบ่งเป็น SMEs ภาคการเกษตร และ SMEs ทั่วไป ไม่น้อยกว่า 250 ราย จัดทำแผนธุรกิจ จำนวน 1 เล่มต่อกิจการ และเตรียมความพร้อมเพื่อขอกู้เงิน - จัดให้มีหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 1 วัน พร้อมระบุหัวข้อแผนธุรกิจให้ครบถ้วน - จัดเจ้าหน้าที่จากสถาบันการเงินหรือที่ปรึกษาจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น หอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ฯลฯ เข้าไปช่วยเหลือแนะนำการจัดทำแผนธุรกิจจนเสร็จสิ้น และให้เป็นผู้ลงนามรับรองในแผนธุรกิจ 2.8 สร้างและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยการคัดเลือกผู้ประกอบการจากข้อ 2.7 จำนวนไม่น้อยกว่า 300 ราย แบ่งเป็น SMEs ภาคการเกษตร และ SMEs ทั่วไปไม่น้อยกว่า 150 ราย เพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการ โดยที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือพี่เลี้ยง ณ สถานประกอบการของกลุ่มเป้าหมาย หรือสถานที่ที่เหมาะสมต่อการดำเนินงานและผู้ประกอบการ - ดำเนินการวินิจฉัย วิเคราะห์ปัญหาและวางแผนการแก้ไขปัญหาของกิจการ - ระบุขั้นตอนและวิธีดำเนินงาน การพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างมาตรฐานสินค้า นวัตกรรม การพัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการการวางแผนการตลาด หรือการสร้างแบรนด์ เป็นต้น - กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม จะต้องได้รับการปรึกษาและพัฒนาศักยภาพอย่างน้อย 1 เรื่อง ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ พี่เลี้ยง ที่เข้าไปให้คำปรึกษาและพัฒนา จะต้องมีการบันทึกการให้คำปรึกษาแนะนำ ระบุปัญหาก่อนการให้คำปรึกษาและหลังจากแก้ไขปัญหาแล้ว - จัดทำรายงานการพัฒนากิจการ สรุปแนวทางการพัฒนา ให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งการประเมินผลการพัฒนา เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการประกอบธุรกิจ เช่น มียอดขายเพิ่มขึ้น หรือมีการลงทุนเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งระบุรายชื่อที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญและรายชื่อพี่เลี้ยงของแต่ละกิจการ 2.9 ผู้ประกอบการภาคการเกษตร SMEs และผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป ที่ผ่านการบ่มเพาะแล้ว จำนวนไม่น้อยกว่า 150 ราย ให้ได้รับการสนับสนุนในการหาแหล่งเงินทุน โดยเชื่อมโยงประสานกับสถาบันการเงิน หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อพิจารณาแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ หรือให้ผู้ประกอบการเข้ารับการส่งเสริมด้านการตลาด 2.10 จัดทำแบบสำรวจเพื่อประเมินความพึงพอใจผู้เข้าร่วมโครงการฯ และสรุปแบบประเมินผลความพึงพอใจของแต่ละกิจกรรม 2.11 จัดส่งรายงานความคืบหน้าประจำเดือน เป้าหมายตัวชี้วัด ผลการดำเนินงาน และผลการใช้เงินทุกสิ้นเดือนตามแบบฟอร์มที่กำหนดให้แก่ สสว. ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป จนกระทั่งครบกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 2.12 จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ โดยสรุปผลงานภาพรวมของโครงการตามขอบเขตการดำเนินงาน ทั้งด้านปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขตลอดจนทำการประเมินความก้าวหน้า และความสำเร็จของวิสาหกิจแต่ละรายเมื่อสิ้นสุดกิจกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง รวมทั้งเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ ต้องประสานงานกับ สสว. รวมทั้งผู้เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ของ สสว. ในการกำกับและติดตามการดำเนินโครงการ และผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการในการดำเนินกิจกรรม หากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิดจากการดำเนินกิจกรรม มหาวิทยาลัยฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ กับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ และมหาวิทยาลัยฯ ต้องแจ้งปิดโครงการโดยมีหนังสือแจ้งไปยัง คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ภายใน 5 วัน นับแต่วันสิ้นสุดโครงการ หากมหาวิทยาลัยฯ มีเงินที่ได้รับการสนับสนุนคงเหลือในส่วนที่ยังมิได้ใช้จ่าย หรือมีเงินคงเหลือ พร้อมกับดอกผล (ถ้ามี) จะต้องคืนให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ มหาวิทยาลัยฯ จึงหารือว่าการให้บริการของมหาวิทยาลัยฯ ทั้ง 2 กรณีข้างต้น มหาวิทยาลัยฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไ ม่ |
แนววินิจฉัย | 1. กรณีมหาวิทยาลัยฯ ทำสัญญาดำเนินโครงการการแข่งขัน Startup ระดับประเทศ (Startup Thailand League) ให้กับ สนช. พิจารณาสัญญาดังกล่าวแล้วเป็นการรับทำงานให้โดยมุ่งผลสำเร็จ ของงาน เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ อีกทั้งสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวมหาวิทยาลัยฯ มีหน้าที่จัดการแข่งขันกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ Start UP เท่านั้น ไม่มีการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือวิชาการในสาขาสังคมศาสตร์ให้กับ สนช. แต่อย่างใด จึงไม่เข้าลักษณะการให้บริการวิจัยหรือการให้บริการทางวิชาการตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด และเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร มหาวิทยาลัยฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีมหาวิทยาลัยฯ ตกลงทำสัญญาร่วมดำเนินการกับ สสว. ดำเนินการโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ปี 2560 โดยมหาวิทยาลัยฯ ต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ และจัดทำหลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการระดับต้น เพื่อให้มีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งธุรกิจ มีการวินิจฉัย วิเคราะห์ปัญหา และวางแผนการแก้ไขปัญหาของกิจการ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างมาตรฐานสินค้า นวัตกรรม การปรับปรุงเทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวางแผนการตลาด หรือการสร้างแบรนด์ เป็นต้น สัญญาร่วมดำเนินการดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาให้บริการทางวิชาการในสาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฯ จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 12) เรื่อง กำหนดสาขาและลักษณะการประกอบกิจการ การให้บริการวิจัยหรือ การให้บริการทางวิชาการ ตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 |
เลขตู้ | : 81/40756 |