เลขที่หนังสือ | : 0702/พ./3592 |
วันที่ | : 7 พฤษภาคม 2561 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับหน่วยภาษี คู่สมรสสามีและภริยา |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 85/1 และ มาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 215) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 216) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและผู้จ่ายเงินได้ ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มีและใช้เลขประจำตัวในการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560 ซึ่งมีประเด็นที่จะต้องตีความและใช้หลักกฎหมายในการพิจารณาในประเด็น ดังนี้ 1. กรณี คู่สมรสสามีและภริยา ประกอบกิจการร่วมกัน และได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในนามของสามีและภริยาแล้ว ต่อมาหากสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเงินได้พึงประเมินจากการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการอื่น สามีหรือภริยาจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการดังกล่าวอีกหรือไม่ 2. กรณี คู่สมรสสามีและภริยา ประกอบกิจการให้บริการ การเครดิตภาษีกรณีถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร 3. กรณี คู่สมรสสามีและภริยา หย่าระหว่างปี หากสามีหรือภริยายังคงประกอบกิจการแต่เพียงฝ่ายเดียวจะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วอย่างไร |
แนววินิจฉัย | ได้มีการออกกฎหมายตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 215)ฯ ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 216)ฯ ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มกำหนดให้สามีและภริยาซึ่งร่วมกันประกอบกิจการซึ่งมีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในนามของสามีและภริยาทั้งสองฝ่าย ซึ่งถือเป็นหน่วยภาษีเดียวกัน โดยให้ดำเนินการขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในนามคู่สมรสในหน่วยภาษี คู่สมรสสามีและภริยา เพื่อใช้ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและต้องนำรายรับจากการที่สามีและภริยาร่วมกันประกอบกิจการดังกล่าวมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในนามผู้ประกอบการจดทะเบียนาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น 1. กรณีสามีและภริยาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยภาษี คู่สมรสสามีและภริยา แล้ว หากสามีหรือภริยามีเงินได้พึงประเมินจากการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการประเภทอื่นแต่ฝ่ายเดียวอีก โดยการประกอบกิจการดังกล่าวมีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,800,000 บาทต่อปี สามีหรือภริยาต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในนามของสามีหรือภริยาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมในนามของสามีหรือภริยา ทั้งนี้ ตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีสามีและภริยาประกอบกิจการให้บริการ การเครดิตภาษีกรณีถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ยังคงเป็นไปตามระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในเรื่องการคำนวณภาษีเงินได้ของสามีและภริยาตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีสามีและภริยาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน่วยภาษี คู่สมรสสามีและภริยา ต่อมาสามีและภริยาจดทะเบียนหย่าระหว่างปีภาษี ถือว่าผู้ประกอบการในหน่วยภาษี คู่สมรสสามีและภริยา เลิกประกอบกิจการ ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวแจ้งการเลิกกิจการภายในสิบห้าวันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร หากสามีหรือภริยายังคงประกอบกิจการแต่เพียงฝ่ายเดียวและการประกอบกิจการดังกล่าวมีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1,800,000 บาทต่อปี สามีหรือภริยาต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ในนามของสามีหรือภริยา |
เลขตู้ | : 81/40653 |