• Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/2670 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559

เลขที่หนังสือ กค 0702/2670 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559

  • Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/2670 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559

เลขที่หนังสือ กค 0702/2670 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559

เลขที่หนังสือ : 0702/2670
วันที่ : 2 เมษายน 2561
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559
ข้อกฎหมาย : มาตรา พระราชกฤษฎีกา 604
ข้อหารือ

          บริษัท ห. จำกัด (บริษัทฯ) ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 มีรายละเอียดสรุปได้ว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน บริษัทฯ มีโรงงาน 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเหล็กรูปพรรณ และผลิตเหล็กแท่ง กล่าวคือ

          1.โรงงานที่ 1 ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเหล็กรูปพรรณ ดังนี้

               1.1ในปี 2540 บริษัทฯ ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ซึ่งกำหนดให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี นับจากวันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี นับจากวันพ้นกำหนด เวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยระยะเวลาการใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2558

               1.2ในปี 2557 บริษัทฯ ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตตามบัตรส่งเสริมการลงทุนตาม 1.1 ข้างต้น (ไม่ได้เป็นโครงการตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแต่อย่างใด) ซึ่งบริษัทฯ มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 ของเงินลงทุนมูลค่า 141 ล้านบาท (ไม่เกิน 70.5 ล้านบาท) เป็นเวลา 3 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัทฯ จะต้องเปิดดำเนินการต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2560

               1.3ในปี 2559 บริษัทฯ ได้ลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อมาทดแทนเครื่องจักรเดิม และนำไปใช้ร่วมกับเครื่องจักรอื่น ๆ ในสายการผลิตโครงสร้างรูปพรรณในโรงงานที่ 1 ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557


          2.โรงงานที่ 2 ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเหล็กแท่งตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี นับจากวันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี นับจากวันพ้นกำหนดเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งระยะเวลาการใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 และบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการตามบัตรส่งเสริมการลงทุนฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 และได้ซื้อเครื่องจักรใหม่ในระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 บริษัทฯ ขอหารือว่า กรณีบริษัทฯ ได้ลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่มาใช้ในโรงงานที่ 1 ซี่งได้รับส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 และโรงงานที่ 2 ซี่งได้รับส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ในระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และคาดว่าจะติดตั้งเสร็จและพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 นั้น บริษัทฯ จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

         ตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 กำหนดลักษณะของทรัพย์สินที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ไว้ว่า ต้องไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่เป็นการนำไปใช้ในโครงการตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนจริงและเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์นั้น ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ได้ซื้อเครื่องจักรในระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เพื่อนำไปใช้ในโรงงานทั้ง 2 แห่ง ซึ่งได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการเหล็กรูปพรรณและกิจการผลิตเหล็กแท่ง อันเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน โดยเครื่องจักรดังกล่าวไม่ได้นำไปใช้ในโครงการตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแต่อย่างใด บริษัทฯ จึงไม่สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 สำหรับการลงทุนในเครื่องจักรนั้น

เลขตู้ : 81/40618


ขอบคุณบทความจาก ::https://www.rd.go.th
 602
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores