เลขที่หนังสือ | : 0702/1833 |
วันที่ | : 2 มีนาคม 2561 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าธรรมเนียม front-end-fee |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40 (4) (ก),และมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ |
บริษัท ก (บริษัท ) หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าธรรมเนียม front-end-fee ให้ธนาคาร ข. (ธนาคารฯ) โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้ 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ ได้ขอกู้ยืมเงินจากธนาคารฯ ) เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาท โดยธนาคารฯ คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 4.0 และค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.0 ของวงเงินกู้ ณ วันที่ได้รับวงเงินกู้ดังกล่าว คือ วันที่ 30 กันยายน 2558 2. ธนาคารฯ เก็บค่าธรรมเนียมจากบริษัทฯ เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท บริษัทฯ แจ้งให้ธนาคารฯ ทราบว่า บริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 1,500 บาท แต่ธนาคารฯ แจ้งว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3. บริษัทฯ ได้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับค่าธรรมเนียมดังกล่าวด้วยเงินของบริษัทฯเนื่องจากเข้าใจว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.104/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 112/1545 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการของธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 |
แนววินิจฉัย |
1. ค่าธรรมเนียม front-end-fee ที่ธนาคารฯ เรียกเก็บจากบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์ หรือค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ได้จากการกู้ยืม ซึ่งเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่ธนาคารฯ บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้หัก 2. กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายค่าธรรมเนียม front-end-fee ให้แก่ธนาคารฯ โดยบริษัทฯ ได้นำส่งภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับค่าธรรมเนียมดังกล่าว ด้วยเงินของบริษัทฯ เอง พร้อมเงินเพิ่มเป็น จำนวนเงิน 1,522.50 บาท ไว้แล้ว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 เนื่องจากการจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย บริษัทฯ จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 81/40589 |