เลขที่หนังสือ | : กค 0702/พ./1064 |
วันที่ | : 7 กุมภาพันธ์ 2561 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1 (10) มาตรา 77/2 (1) มาตรา 78/1 (1) และ มาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ |
1. บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการทางบัญชี จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ เมื่อปี 2554 บริษัทฯ บันทึกบัญชีรับรู้รายได้และรายจ่ายตามเกณฑ์คงค้างและเกณฑ์สิทธิ์เพื่อการคำนวณกำไรสุทธิ เมื่อปี 2554 บริษัทฯ บันทึกรายได้จากการให้บริการทางบัญชีเป็นเงินทั้งสิ้น 470,850 บาท แต่บริษัทฯ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้เป็นเงินจำนวน 62,000 บาท จึงบันทึกบัญชีตั้งค้างไว้ และปี 2555 บริษัทฯ บันทึกรายได้จากการให้บริการทางบัญชีเป็นเงินทั้งสิ้น 1,250,320 บาท ไม่สามารถเรียกเก็บจากลูกค้าได้เป็นเงินจำนวน 96,000 บาท บริษัทฯ บันทึกบัญชีตั้งค้างไว้ บริษัทฯ มีรายรับในปี 2554 และ 2555 ในแต่ละปีไม่เกิน 1,800,000 บาท |
แนววินิจฉัย | กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการทางบัญชีเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ เว้นแต่ได้มีการออกใบกำกับภาษีหรือได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการ ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วยตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ มีการให้บริการทางบัญชีในปี 2554 และปี 2555 แต่บริษัทฯ ได้รับชำระค่าบริการดังกล่าวในปี 2556 รวมจำนวนทั้งสิ้น 158,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับรายรับที่เกิดจากการให้บริการในปี 2556 จำนวน 1,790,200 บาทแล้ว ทำให้บริษัทฯ มีรายรับในปี 2556 จำนวน 1,948,200 บาท ซึ่งเกินกว่า 1,800,000 บาท อันเป็นมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :81/40572 |