เลขที่หนังสือ | : กค 0702/313 |
วันที่ | : 16 มกราคม 2561 |
เรื่อง | : การยกเว้นภาษีอากร ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล |
ข้อกฎหมาย | : พระราชกฤษฎีกา ( ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 |
ข้อหารือ |
หารือเกี่ยวกับการใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากร ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560 กรณีที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ กำหนดว่า บุคคล หมายความว่า ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ประกอบกับมีผู้ถือหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นหลังจากวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 สอบถามแนวทางปฏิบัติในกรณีดังกล่าว จึงมีประเด็นพิจารณาดังนี้ |
แนววินิจฉัย | พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 644) พ.ศ. 2560 ได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินให้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น แล้วแต่กรณี และกรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 6) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4)ฯ ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560 โดยกำหนดให้ บุคคล หมายความว่า บุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงสามารถพิจารณาได้ ดังนี้ 1. อสังหาริมทรัพย์ที่โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้น ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 นั้น ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ใช้ในการประกอบกิจการอยู่ก่อนของบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล แล้วแต่กรณี 2. การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการถือกรรมสิทธิ์รวมเกิดขึ้นเนื่องจากการทำนิติกรรมซื้อขาย ขายฝาก หรือแลกเปลี่ยน โดยเข้าถือกรรมสิทธ์รวมพร้อมกัน ให้เสียภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามมาตรา 91/1 วรรคสอง ประกอบมาตรา 77/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 644) พ.ศ. 2560 จึงพิจารณาได้ ดังนี้ 2.1 กรณีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมทุกคนประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 644) พ.ศ. 2560 2.2 กรณีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนใดคนหนึ่งประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะต้องดำเนินการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นออกมาจากการถือกรรมสิทธิ์รวมก่อนการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 644) พ.ศ. 2560 3. การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการถือกรรมสิทธิ์รวมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำนิติกรรมซื้อขาย ขายฝาก หรือแลกเปลี่ยน ที่ไม่ได้มีการเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมพร้อมกัน หรือการถือกรรมสิทธิ์รวมเกิดขึ้นเนื่องจาก การได้รับมรดก การให้โดยเสน่หา การครอบครองปรปักษ์ หรือจากการที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้บุคคลอื่นเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในภายหลัง บุคคลแต่ละคนที่ถือกรรมสิทธิ์รวมนั้นมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะ ในฐานะบุคคลธรรมดา ตามส่วนของแต่ละคนที่มีส่วนอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวม ตามมาตรา 91/1 วรรคสอง ประกอบมาตรา 77/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 644) พ.ศ. 2560 จึงพิจารณาได้ ดังนี้ 3.1 กรณีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมทุกคนประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามส่วนของแต่ละคนที่มีส่วนอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวมนั้น ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 644) พ.ศ. 2560 3.2 กรณีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนใดคนหนึ่งประสงค์โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องดำเนินการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นออกมาจากการถือกรรมสิทธิ์รวมก่อนการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 644) พ.ศ. 2560 |
เลขตู้ | : 81/40544 |