บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
1.เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544 บริษัทฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการค้าส่งและส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายในรถยนต์ ให้บริการด้านเทคนิค วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนรถยนต์ และซ่อมแซมอะไหล่แม่พิมพ์ โดยบริษัทฯ เป็นบริษัทในกลุ่มโตโยต้า และมีบริษัท โตโยต้า โบโชคุ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น (บริษัทแม่) ถือหุ้นของบริษัทฯในอัตราร้อยละ 99.99 บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
2.บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้เป็น IHQ ตามหนังสือที่ กค 0722/ภญ/4518 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2559 โดยประกอบกิจการ การให้บริการด้านบริหาร ด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน และการเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) และมีรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีรวม 15 รอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้
- รอบระยะเวลาบัญชีแรกเริ่มวันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560
- รอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายเริ่มวันที่ 1 เมษายน 2573 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574บริษัทฯ มีคนต่างด้าวทำงานประจำ จำนวน 54 คน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีรายชื่อระบุอยู่ในรายละเอียดคนต่างด้าวที่ขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีตามเอกสารแนบแบบ ส.ญ.ค. 1 ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ ยกเว้นภาษีเงินได้ และยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะของบริษัทซึ่งประกอบกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
3.บริษัทฯ ขอทราบว่า
3.1บริษัทฯ มีการประกอบกิจการทั้งกิจการ IHQ ซึ่งรวมถึงกิจการ ITC และ Non-IHQ(ไม่ใช่กิจการ IHQ และ ITC) ซึ่งบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการด้านบริหาร ด้านเทคนิค และการให้บริการแก่บริษัทในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศ และรายได้จากกิจการ ITC กรณีการจัดซื้อและขายสินค้าวัตถุดิบ และชิ้นส่วน หรือการให้บริการเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งบริษัทฯ จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะกรณีการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศโดยสินค้าต้องมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยหรือเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะการผ่านแดนหรือการถ่ายลำตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (Out-Out Transaction) สำหรับรายได้จากกิจการ ITC กรณีการนำเข้า (Out-In Transaction) การส่งออก (In-Out Transaction) หรือการจัดซื้อและขายสินค้าภายในประเทศ (In-In Transaction) ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่อย่างไรก็ตาม การประกอบกิจการของบริษัทฯ ก็ยังคงเป็นการประกอบกิจการ ITC ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
3.2การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลกิจการ IHQ และ Non-IHQ บริษัทฯ สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 จากเงินได้พึงประเมินทั้งจำนวนที่จ่ายให้แก่คนต่างด้าว ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องบริษัทฯ จะต้องปฏิบัติอย่างไร ดังนี้
(1)กรณีบริษัทฯ ไม่สามารถแยกสัดส่วนเงินเดือนของคนต่างด้าวได้โดยชัดแจ้งว่าส่วนใดเป็นของกิจการ IHQ และส่วนใดเป็น Non-IHQ บริษัทฯ จะเลือกใช้วิธีการปันส่วนเงินได้ตามสัดส่วนรายได้ของบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะคำนวณจากรายได้หลัก (รายได้จากการขายหรือให้บริการ) หรือรายได้ทั้งหมดซึ่งรวมถึงรายได้อื่น ๆ เช่น ดอกเบี้ย กำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
(2)หากไม่ใช้วิธีการตาม (1) บริษัทฯ มีสิทธิเลือกใช้วิธีการปันส่วนเงินได้ตามสัดส่วนหรือจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เกิดขึ้นจริงของคนต่างด้าวตามแต่ละประเภทกิจการของบริษัทฯ ตามรายละเอียดที่บันทึกอยู่ในคำบรรยายลักษณะงานและบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคนต่างด้าว (Job Description and Responsibility) ประกอบกับรายงานจดบันทึกการทำงานในแต่ละวัน (Timesheet) ซึ่งผ่านการตรวจสอบและอนุมัติโดยหัวหน้างานที่เกี่ยวข้อง
3.3การพิจารณาคุณสมบัติของคนต่างด้าวตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 นั้น เป็นการพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะรายบุคคล โดยพิจารณาจากจำนวนเงินได้พึงประเมินทั้งหมดที่คนต่างด้าวได้รับจากบริษัทฯ ว่าเป็นจำนวนรวมไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านบาทต่อปีภาษี หรือเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 แสนบาทต่อเดือน แต่การปันส่วนเงินได้ของคนต่างด้าวในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิก็เพื่อจำแนกว่าเงินเดือนส่วนใดเป็นรายจ่ายของกิจการประเภทใด ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคุณสมบัติของคนต่างด้าวตามกฎหมาย ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
3.4หากภายหลังพบว่า บริษัทฯและ/หรือ คนต่างด้าว มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนในปีภาษีใด คนต่างด้าวก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และบริษัทฯ ก็ไม่มีสิทธิในการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 เช่นกัน แต่ถ้าคนต่างด้าวได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 91) โดยคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า พร้อมชำระภาษีไว้ครบถ้วนแล้ว บริษัทฯในฐานะผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมไม่มีความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 15 พร้อมทั้งเงินเพิ่มแต่อย่างใดความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
|