เลขที่หนังสือ | : กค 0702/3954 |
วันที่ | : 30 สิงหาคม 2559 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) |
ข้อกฎหมาย | : กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ RMF |
ข้อหารือ | นาย ก. ได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ท จำกัด ดังนี้ ปีที่ วันที่ซื้อ จำนวน (บาท) 1 21 ธันวาคม 2547 30,000 2 11 กรกฎาคม 2548 30,000 3 9 พฤศจิกายน 2549 30,000 4 12 กรกฎาคม 2550 30,000 5 28 กรกฎาคม 2551 56,500 6 27 พฤศจิกายน 2552 100,000 7 14 พฤศจิกายน 2553 150,000 8 31 พฤษภาคม 2554 100,000 9 3 กรกฎาคม 2555 30,000 10 31 พฤษภาคม 2556 220,000 11 9 กรกฎาคม 2557 150,000 รวม 926,500 นาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุน RMF คืนให้แก่กองทุน RMF ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 โดยขายหน่วยลงทุน RMF ที่ซื้อไว้ในปี 2547 ถึงปี 2550 จำนวน 120,000 บาท และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 โดยขายหน่วยลงทุน RMF ที่ซื้อไว้ในปี 2551 ถึงปี 2557 จำนวน 806,500 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 926,500 บาท นาย ก. ขอทราบว่า 1. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 นาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุน RMF ทั้งหมดเฉพาะปี 2547 ถึงปี 2550 จำนวน 120,000 บาท ซึ่งเป็นหน่วยลงทุนที่ซื้อมาก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2551 สามารถกระทำได้หรือไม่ และกำไรจากการขายหน่วยลงทุนดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือไม่ 2. ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 นาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุน RMF ปี 2551 ถึงปี 2557 จำนวน 806,500 บาท ที่เหลือทั้งหมดสามารถกระทำได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นการไถ่ถอนหน่วยลงทุน RMF ที่ซื้อไว้ในปี 2547 ถึงปี 2550 บางส่วน ทำให้สามารถนับปี 2551 เป็นปีที่ 1 ได้ และกำไรจากการขายหน่วยลงทุนดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | 1. กรณีตาม 1. นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 และได้ซื้อติดต่อกันทุกปีจนถึงปี 2557 ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 นาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุน RMF เฉพาะปี 2547 ถึงปี 2550 จำนวน 120,000 บาท ซึ่งเป็นหน่วยลงทุนที่ซื้อมาก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 คืนให้แก่กองทุน RMF โดยในขณะที่ขายหน่วยลงทุนนั้น นาย ก. มีอายุต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ กรณีถือได้ว่า นาย ก. ได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก) (วันที่ 21 ธันวาคม 2547) ดังนั้น เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าว และเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่นาย ก. ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน RMF คืนให้แก่กองทุน RMF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากการซื้อและขายหน่วยลงทุน RMF เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อ 2 (22) และ (65) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 132)ฯ ลงวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2547 2. กรณีตาม 2. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 นาย ก. ได้ทยอยขายหน่วยลงทุน RMF เฉพาะปี 2547 ถึงปี 2550 และยังคงถือหน่วยลงทุน RMF ปี 2551 ถึงปี 2555 ที่ได้ซื้อมาต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMF ที่เหลืออยู่ให้นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เมื่อนาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุน RMF ปี 2551 ถึงปี 2555 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 กรณีถือได้ว่า เป็นการขายหน่วยลงทุน RMF ที่ได้ถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก โดยในขณะที่ขายหน่วยลงทุนนั้น นาย ก. มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าว และเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่นาย ก. ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน RMF คืนให้แก่กองทุน RMF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากการซื้อและขายหน่วยลงทุน RMF เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อ 2 (55) และ (65) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 170) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 3. แต่กรณีตาม 2. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 นาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุน RMF เฉพาะปี 2547 ถึงปี 2550 และในปีเดียวกัน (วันที่ 31 พฤษภาคม 2556) และปี 2557 (วันที่ 9 กรกฎาคม 2557)นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ปี 2556 และปี 2557 ใหม่ ดังนั้น นาย ก. จะต้องถือหน่วยลงทุน RMF ปี 2556 และปี 2557 ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งใหม่นั้น (วันที่ 31 พฤษภาคม 2556) โดยต้องซื้อไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน และขณะไถ่ถอนหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว นาย ก. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ปี 2556 และปี 2557 ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกินห้าแสนบาท และเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่นาย ก. ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน RMF คืนให้แก่กองทุน RMF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากการซื้อและขายหน่วยลงทุน RMF เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อ 2 (55) และ (65) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และประกาศอธิบดีรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 170) ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาย ก. ได้ขายหน่วยลงทุน RMF ปี 2556 และปี 2557 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ถือได้ว่า นาย ก. ได้ถือหน่วยลงทุน RMF ปี 2556 และปี 2557 ไว้น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งใหม่นั้น แม้ว่าขณะที่ขายหน่วยลงทุนนั้น นาย ก. จะมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าว และเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่นาย ก. ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน RMF ปี 2556 และปี 2557 คืนให้แก่กองทุน RMF จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าว |
เลขตู้ | : 79/40174 |