เลขที่หนังสือ | : 0702/8504 |
วันที่ | : 21 กันยายน 2558 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการใช้สิทธิลดหย่อนและยกเว้นภาษี สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิต |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 47 (1) (ง) และข้อ 2 (61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) |
ข้อหารือ | 1. เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 ผู้เอาประกันชีวิตได้ซื้อกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์กับบริษัทA มีทุนประกันภัย 1,000,000 บาท ชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี ปีละ 40,000 บาท ระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ 20 ปี 2. กรมธรรม์ดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินคืน (ผลประโยชน์ตอบแทน) ในระหว่างอายุกรมธรรม์ทุกปี โดยทุกปีจะจ่ายเงินคืน จำนวน 3% ของทุนประกันชีวิต คือจ่ายเงินคืน 30,000 บาท ซึ่งเกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี เงื่อนไขการจ่ายเงินคืนดังกล่าวมิได้เป็นไปตามข้อ 2 (2) (ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2 (61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ทำให้ผู้เอาประกันชีวิตที่ซื้อกรมธรรม์ดังกล่าวไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่ถึง 90,000 บาท บริษัทA จึงหารือว่า กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น ผู้เอาประกันชีวิตจะนำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตบางส่วนจำนวน 10,000 บาท ที่จ่ายสำหรับกรมธรรม์ดังกล่าว มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากรได้ หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | การหักลดหย่อนภาษีสำหรับเบี้ยประกันชีวิต และการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตต้องเป็นไปตามกฎหมาย ดังนี้ 1. ตามมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร ได้รับสิทธิหักลดหย่อนเฉพาะเบี้ยประกันชีวิตที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร 2. ตามข้อ 2 (61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิต มีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกำหนด ดังต่อไปนี้ (1) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยดังกล่าวได้ (2) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้ (ก) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หรือ (ข) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดนอกจาก (ก) เช่น ราย 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดให้มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน หรือ (ค) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนที่ไม่เป็นไปตาม (ก) หรือ (ข) ผลรวมของเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตาม (ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้รับตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแล้ว แต่ผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์ ทั้งนี้ ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172)ฯ ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น ผู้เอาประกันชีวิตสามารถนำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต จำนวน 10,000 บาท ที่จ่ายสำหรับกรมธรรม์ดังกล่าว มาใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษี ตามมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากรได้ เพราะในการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตตามมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้มีบทจำกัดสิทธิเกี่ยวกับการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนแต่ประการใด |
เลขตู้ | : 78/39878 |