เลขที่หนังสือ | : 0702/6434 |
วันที่ | : 9 กรกฎาคม 2558 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการออกหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการเคหะ |
ข้อกฎหมาย | : ข้อ 1 (10) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) ข้อ 2 (53) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 |
ข้อหารือ | สหกรณ์ ก. มีความประสงค์ขอหารือการออกหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการเคหะเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา 47 (1) (ซ) แห่งประมวลรัษฎากร สรุปข้อเท็จจริง ดังนี้ 1. สมาชิกกู้เงินเพื่อการเคหะกับสหกรณ์ ก. โดยจำนองบ้านและที่ดินเป็นประกันการกู้ยืมจำนวน 1,000,000 บาท ชำระหนี้ไปจำนวนหนึ่ง คงเหลือจำนวน 800,000 บาท ต่อมาสมาชิกขอกู้เงินสหกรณ์ ก. เพิ่ม จำนวน 1,000,000 บาท โดยมีการหักหนี้เดิม จำนวน 800,000 บาท และรับเป็นเงินสดส่วนที่เหลือ จำนวน 200,000 บาท ซึ่งยังคงใช้บ้านพร้อมที่ดินหลังเดิมจำนองเป็นประกัน โดยมีการจดจำนองใหม่กับสหกรณ์ ก. สหกรณ์ ก. มีสิทธิออกใบรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือไม่ จะคำนวณดอกเบี้ยจากยอดเงินกู้ใด และจำนวนเท่าใด 2. สมาชิกกู้เงินเพื่อการเคหะกับธนาคารพาณิชย์ มีการจำนองบ้านและที่ดินเป็นประกัน โดยมีหนี้คงเหลือ จำนวน 1,000,000 บาท สมาชิกขอกู้เงินเพื่อการเคหะกับสหกรณ์ ก. จำนวน 1,000,000 บาท โดยขอเปลี่ยนการจำนองหนี้ดังกล่าวจากธนาคารพาณิชย์มาจดจำนองต่อสหกรณ์ ก. ทั้งจำนวน ไม่มีการรับเงินเพิ่ม สหกรณ์ ก. มีสิทธิออกใบรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือไม่ จะคำนวณดอกเบี้ยจากยอดเงินกู้ใด และจำนวนเท่าใด 3. สมาชิกกู้เงินมิใช่เพื่อการเคหะกับธนาคารพาณิชย์ มีการจำนองบ้านและที่ดินเป็นประกันการกู้ยืม โดยมีหนี้คงเหลือ จำนวน 1,000,000 บาท สมาชิกขอกู้เงินเพื่อการเคหะกับสหกรณ์ ก. จำนวน 1,000,000 บาท โดยขอเปลี่ยนการจำนองหนี้ดังกล่าวจากธนาคารพาณิชย์มาจดจำนองต่อสหกรณ์ ก.ทั้งจำนวน ไม่มีการรับเงินเพิ่ม สหกรณ์ ก. มีสิทธิออกใบรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือไม่ จะคำนวณดอกเบี้ยจากยอดเงินกู้ใด และจำนวนเท่าใด 4. สมาชิกกู้เงินเพื่อการเคหะกับธนาคารพาณิชย์ มีการจำนองบ้านและที่ดินเป็นประกัน โดยมีหนี้คงเหลือ จำนวน 1,000,000 บาท สมาชิกขอกู้เงินเพื่อการเคหะกับสหกรณ์ ก. จำนวน 1,200,000 บาท โดยขอเปลี่ยนการจำนองหนี้ดังกล่าวจากธนาคารพาณิชย์ จำนวน 1,000,000 บาท มาจดจำนองต่อสหกรณ์ ก. ทั้งจำนวน และมีการรวมหนี้ที่มีอยู่เดิมกับสหกรณ์ ก. อีก 200,000 บาท สหกรณ์ ก. มีสิทธิออกใบรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือไม่ จากยอดเงินกู้ใด และจำนวนเท่าใด 5. สมาชิกกู้เงินเพื่อการเคหะกับธนาคารพาณิชย์ มีการจำนองบ้านและที่ดินเป็นประกัน โดยมีหนี้คงเหลือ จำนวน 1,000,000 บาท สมาชิกขอกู้เงินเพื่อการเคหะกับสหกรณ์ ก. จำนวน 1,200,000 บาท โดยขอเปลี่ยนการจำนองหนี้ดังกล่าวจากธนาคารพาณิชย์ จำนวน 1,000,000 บาท มาจดจำนองต่อสหกรณ์ ก. ทั้งจำนวน และมีการรวมหนี้ที่มีอยู่เดิมกับสหกรณ์ ก. อีก 200,000 บาท รวมเป็นจำนวน 1,200,000 บาท ต่อมาเมื่อสมาชิกชำระหนี้เงินกู้จากสหกรณ์ ก. ไปจำนวนหนึ่ง คงเหลือ 1,000,000 บาท สมาชิกขอกู้เพิ่มกับสหกรณ์ ก. อีกจำนวน 1,200,000 บาท โดยรับเป็นเงินสด จำนวน 200,000 บาท และจดจำนองกับสหกรณ์ด้วยหลักทรัพย์เดิม จำนวน 1,200,000 บาท สหกรณ์ ก. มีสิทธิออกใบรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือไม่ จากยอดเงินกู้ใด และจำนวนเท่าใด 6. สมาชิกกู้เงินเพื่อการเคหะกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีการจำนองบ้านและที่ดินเป็นประกัน จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อชำระหนี้ไปจำนวนหนึ่ง คงเหลือจำนวน 800,000 บาท สมาชิกได้เปลี่ยนการจำนองหนี้ดังกล่าวมาจดจำนองต่อกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามจำนวนหนี้เดิม 800,000 บาท และเมื่อชำระหนี้ธนาคารฯ ไปจำนวนหนึ่ง คงเหลือ 700,000 บาท สมาชิกมาขอกู้เงินเพื่อการเคหะกับสหกรณ์ ก. จำนวน 1,000,000 บาท โดยขอเปลี่ยนการจำนองหนี้ดังกล่าวจากธนาคารกรุงไทยฯ จำนวน 700,000 บาท มาจำนองต่อสหกรณ์ ก. ทั้งจำนวน และมีการรวมหนี้ที่มีอยู่เดิมกับสหกรณ์ ก. อีก 300,000 บาท รวมเป็นจำนวน 1,000,000 บาท ต่อมาเมื่อสมาชิกชำระหนี้ที่กู้จากสหกรณ์ ก. ไปจำนวนหนึ่ง คงเหลือ 800,000 บาท สมาชิกขอกู้เพิ่มกับสหกรณ์ ก. อีกจำนวน 1,200,000 บาท โดยรับเป็นเงินสด จำนวน 400,000 บาท และจดจำนองกับสหกรณ์ด้วยหลักทรัพย์เดิม จำนวน 1,200,000 บาท สหกรณ์มีสิทธิออกใบรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมหรือไม่ จากยอดเงินกู้ใด และจำนวนเท่าใด |
แนววินิจฉัย | 1. กรณี 1. การให้กู้ยืมเงินเพิ่มซึ่งมีวงเงินเกินวงเงินที่ค้างชำระ สหกรณ์ ก. จะต้องออกหลักฐานหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างที่อยู่อาศัย เฉพาะดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระ ดังนั้น หากสหกรณ์ ก. ให้กู้ยืมเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,000,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมเดิมซึ่งมีวงเงินที่ค้างชำระ จำนวน 800,000 บาท สหกรณ์ ก. จึงต้องออกหลักฐานหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากจำนวนเงิน 800,000 บาท 2. กรณี 2. ถึง 6. การกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ ก. เพื่อไถ่ถอนหนี้ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตามข้อ 1 (10) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47 (1) (ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ดังนั้น ดอกเบี้ยเงินกู้ที่กู้จากสหกรณ์ ก. เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระ จึงหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท และในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามข้อ 2 (53) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร |
เลขตู้ | : 78/39773 |