• Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/4204 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ราย มูลนิธิไลออนส์ในประเทศไทย

เลขที่หนังสือ กค 0702/4204 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ราย มูลนิธิไลออนส์ในประเทศไทย

  • Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/4204 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ราย มูลนิธิไลออนส์ในประเทศไทย

เลขที่หนังสือ กค 0702/4204 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ราย มูลนิธิไลออนส์ในประเทศไทย

เลขที่หนังสือ : กค 0702/4204
วันที่ : 22 เมษายน 2558
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ราย มูลนิธิไลออนส์ในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย : มาตรา 86/13 มาตรา 88/1 มาตรา89/1 และมาตรา 89(6)
ข้อหารือ

          1. มูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์ให้บริการช่วยเหลือประชาชนเจ็บป่วยทั่วไปที่ขัดสนยากไร้เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติ เพื่อกระทำกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศล ฯลฯ มูลนิธิฯ มีรายรับจาก ค่าบำรุงสมาชิก เงินบริจาคสมาชิก และเงินบริจาคอื่นๆ โดยค่าบำรุงสมาชิกรายปีเรียกเก็บปีละครั้ง มูลนิธิฯ ถือเป็นรายรับที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ธ) แห่งประมวลรัษฎากร


          2. ในปี 2551 มูลนิธิฯ เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมใหญ่ไลออนส์สากลครั้งที่ 91ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการจัดการประชุมใหญ่ไลออนส์สากลจากสำนักงาน เป็นจำนวนเงิน 170,000,000 บาท ตามบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2550 โดย สำนักงานฯจะจ่ายเงินให้มูลนิธิฯ 4 งวด และมูลนิธิฯ ได้ออกใบเสร็จรับเงินและใบรับเงิน/ใบกำกับภาษีและนำส่งภาษีขายต่อกรมสรรพากร


          3. มูลนิธิฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 และได้ยื่นแบบ ภ.พ. 30 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2550 และเดือนภาษีมกราคม 2551 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ก่อนการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผลจากการยื่นแบบ ภ.พ. 30 เดือนภาษีมกราคม 2551 ทำให้เครื่องประมวลผลเป็นหนังสือแจ้งการประเมินแบบ ภ.พ. 73 มูลนิธิฯ ต้องรับผิดภาษีจำนวน 245,997.63 บาท พร้อมเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3)(4) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 122,998.82 บาท เงินเพิ่ม 7,879.93 บาท รวม 376,876 บาทโดยสำนักงานสรรพากรภาค พิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันควรผ่อนผัน จึงงดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่มูลนิธิฯ ร้องขอ


          4. มูลนิธิฯ ได้ขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2550 แต่กรมสรรพากร ได้มีหนังสือลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 พิจารณาว่า เงินที่มูลนิธิฯ ได้รับจากสำนักงานฯ จำนวน 170,000,000 บาท ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นผู้ให้การสนับสนุนฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงและวัฒนธรรมของประเทศไทยโดยเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงและมูลนิธิฯ ได้ใช้เงินไปเพื่อดำเนินกิจการตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวทุกประการโดยไม่มีการกระทำใดเป็นการตอบแทนแก่สำนักงานฯ และมิได้นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่นนอกจากเพื่อประโยชน์แก่สาธารณกุศลภายในประเทศ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณกุศลซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่นจึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ธ) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ ได้ออกใบกำกับภาษีเมื่อได้รับเงินโดยไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร มูลนิธิฯจึงต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษีเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน และต้องเสียเบี้ยปรับสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินเพิ่ม ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

          กรณีมูลนิธิฯ ได้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกตามกฎหมาย มูลนิธิฯ ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินตามมาตรา 88/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยในกรณีที่มูลนิธิฯ ได้ยื่นแบบฯ (ภ.พ. 30) แสดงเฉพาะภาษีขายจากการออกใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิออกและได้นำส่งกรมสรรพากรไว้แล้ว มูลนิธิฯ ต้องรับผิดดังนี้


          1. กรณีมูลนิธิฯ ยื่นแบบฯ (ภ.พ. 30) แสดงเฉพาะภาษีขาย ตามจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย โดยไม่มีการนำภาษีซื้อมาเครดิตออกจากภาษีขาย จึงไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มซ้ำอีกและไม่ต้องชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ยังคงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น ตามมาตรา89(6) แห่งประมวลรัษฎากร


          2. กรณีการยื่นแบบฯ (ภ.พ. 30) แสดงภาษีขาย ตามจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย โดยนำภาษีซื้อมาขอเครดิตออกจากภาษีขายและได้นำส่งส่วนต่างให้กรมสรรพากรไว้แล้ว จึงมีผลเป็นการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องรับผิดตามใบกำกับภาษีดังกล่าวบางส่วนเท่านั้น จึงต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษีในส่วนที่เสียภาษีขาดพร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ของภาษีในส่วนที่เสียขาดและยังต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 78/39627


ขอบคุณบทความจาก ::https://www.rd.go.th
 929
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores