• Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/7723 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินเดือนและค่านายหน้า

เลขที่หนังสือ กค 0702/7723 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินเดือนและค่านายหน้า

  • Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/7723 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินเดือนและค่านายหน้า

เลขที่หนังสือ กค 0702/7723 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินเดือนและค่านายหน้า

เลขที่หนังสือ : กค 0702/7723
วันที่ : 16 ตุลาคม 2557
เรื่อง : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินเดือนและค่านายหน้า
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1)(2) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัท บ. (บริษัทฯ) มีความประสงค์จะขยายตลาดไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งในช่วงแรก บริษัทฯ จะยังไม่จัดตั้งสำนักงานขาย แต่จะจ้างชาวเวียดนามให้เป็นพนักงานขายประจำอยู่ในประเทศเวียดนามเพื่อทำตลาด แล้วจึงส่งคำสั่งซื้อของลูกค้ามายังบริษัทฯ โดยส่งมาทาง E-Mail ไม่ต้องเดินทางเข้ามาในประเทศไทย บริษัทฯ จึงขอทราบว่า กรณีที่บริษัทฯ ได้จ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานชาวเวียดนาม พร้อมเบี้ยเลี้ยงทุกวันสุดท้ายของเดือน และหากมียอดขายตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะมีการจ่ายค่านายหน้าให้ด้วยดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด และต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทนหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ จ้างชาวเวียดนามให้เป็นพนักงานขายประจำอยู่ในประเทศเวียดนามเพื่อทำตลาดให้แก่บริษัทฯ นั้น อาจพิจารณาได้ดังนี้
          1.หากเงินได้ที่พนักงานชาวเวียดนามได้รับจากบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นเงินได้พึงประเมินตามสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับจากการทำงานเพื่อกิจการของนายจ้างในประเทศไทย เงินได้ที่พนักงานได้รับดังกล่าว ย่อมอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ให้แก่พนักงานชาวเวียดนาม จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากพนักงานดังกล่าวมีถิ่นที่อยู่ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ค่าตอบแทนที่พนักงานได้รับ จึงเข้าลักษณะเป็นบริการส่วนบุคคลที่ไม่อิสระ ซึ่งเก็บภาษีได้เฉพาะในประเทศที่ได้มีการจ้างงานเท่านั้น เมื่อพนักงานชาวเวียดนามที่มีถิ่นที่อยู่ในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยจากค่าตอบแทนที่ได้รับ และบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 อนึ่ง การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้ชำระราคาค่าบริการ จึงไม่มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
          2.หากเงินได้ที่พนักงานชาวเวียดนามได้รับนั้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้รับเงินได้พึงประเมินไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และไม่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน ผู้รับเงินได้พึงประเมินจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวให้แก่พนักงานชาวเวียดนาม จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากการให้บริการดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะการให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร รายรับจากการให้บริการในต่างประเทศของผู้ประกอบการในต่างประเทศ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ : 77/39328


ขอบคุณบทความจาก ::https://www.rd.go.th
 527
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores