• Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/3540 ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้กับบริษัทในเครือ

เลขที่หนังสือ กค 0702/3540 ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้กับบริษัทในเครือ

  • Home

  • Blog

  • ข้อหารือภาษีอากร

  • เลขที่หนังสือ กค 0702/3540 ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้กับบริษัทในเครือ

เลขที่หนังสือ กค 0702/3540 ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้กับบริษัทในเครือ

เลขที่หนังสือ : กค 0702/3540
วันที่ : 2 มิถุนายน 2557
เรื่อง : ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้กับบริษัทในเครือ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 91/2(5) มาตรา 91/5(5) มาตรา 91/7 มาตรา 91/10 มาตรา 91/6(6)และมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัท ค. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการธุรกิจให้เช่าอาคารสำนักงานและบริการสาธารณูปโภค บริษัท ค. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ท. คิดเป็นร้อยละ 61 ของจำนวนหุ้นและมีผู้บริหารและกรรมการเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน บริษัท ท. ประกอบธุรกิจขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยได้ขอสินเชื่อเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงการจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ภายใต้เงื่อนไขของสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว บริษัท ค. จำเป็นต้องค้ำประกันเงินกู้ทั้งจำนวนให้แก่บริษัท ท. และเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 2 ต่อปีของจำนวนเงินกู้ ทั้งนี้ บริษัท ค. ไม่ได้ประกอบกิจการในการรับค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่บุคคลอื่นหรือบุคคลอื่นใดในทางการค้า บริษัท ค. ขอหารือว่า
          1.เงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันการกู้ยืมเงินที่บริษัท ค. เรียกเก็บจากบริษัท ท. และบริษัท ค. ได้นำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะไปแล้วนั้น หากบริษัท ค. ไม่คืนเงินค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บมาแล้วให้กับบริษัท ท. บริษัท ค. มีสิทธิขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะที่บริษัท ค. นำส่งไปแล้วทั้งหมดได้หรือไม่
          2.ในกรณีบริษัท ค. ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันกับบริษัท ท. ดังกล่าวอีกต่อไป บริษัท ค. จะมีภาระภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
          3.ในกรณีบริษัท ค. ยกเลิกการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันทั้งหมดและคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้กับบริษัท ท. บริษัท ค. มีสิทธิขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะที่นำส่งไปแล้วทั้งหมดได้หรือไม่
          4.การค้ำประกันบริษัทในเครือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว หมายความรวมถึง หากสัญญากู้ยืมเงินระหว่างบริษัทในเครือกับสถาบันการเงินมีการขยายระยะเวลาออกไปและบริษัท ค. ยังคงต้องเข้าค้ำประกันตามสัญญาเงินกู้ดังกล่าวที่ขยายระยะเวลาออกไปด้วย บริษัท ค. จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
แนววินิจฉัย           1.การพิจารณาภาระภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการค้ำประกันในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินภายใต้เงื่อนไขของสถาบันการเงินให้บริษัทเข้าเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่บริษัทในเครือ แยกการพิจารณาเป็น 2 กรณี ดังนี้
               1.1กรณีการค้ำประกันในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินภายใต้เงื่อนไขของสถาบันการเงินให้บริษัทเข้าเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่บริษัทในเครือ โดยบริษัทไม่คิดค่าตอบแทน และบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการในการรับค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่บุคคลอื่นหรือบริษัทอื่นใดในทางการค้า นอกจากค้ำประกันบริษัทในเครือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว เป็นการค้ำประกันด้วยความความจำเป็นภายใต้เงื่อนไขของสถาบันการเงิน การค้ำประกันดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร เทียบได้กับมติคณะกรรมการพิจารณาปัญหากฎหมายและอุทธรณ์หรือคำร้อง (กพอ.) ครั้งที่ 5/2552 วันพุธที่ 2 ธันวาคม 2552 ระเบียบวาระที่ 2.2
          กรณีการค้ำประกันดังกล่าวเป็นการค้ำประกันในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่มีกำหนดเวลาชำระแน่นอน หากสัญญากู้ยืมเงินมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป ถือว่าสถาบันการเงินผู้เป็นเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ บริษัทผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 700 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่หากบริษัท ผู้ค้ำประกันได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลาและยอมผูกพันตนตามสัญญาค้ำประกันอีกครั้งหนึ่งต่อไป เป็นเหตุให้บริษัทผู้ค้ำประกันไม่หลุดพ้นจากความรับผิด ตามมาตรา 700 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีดังกล่าวมิใช่การค้ำประกันในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัทในเครือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวโดยไม่คิดค่าตอบแทนที่มีเหตุอันสมควร การค้ำประกันในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของบริษัทในเครือกับสถาบันการเงินที่มีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
               1.2กรณีการค้ำประกันในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินภายใต้เงื่อนไขของสถาบันการเงินให้บริษัทเข้าเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่บริษัทในเครือ โดยบริษัทคิดค่าตอบแทน แม้ว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการในการรับค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่บุคคลอื่นหรือบริษัทอื่นใดในทางการค้ามาก่อน และค้ำประกันบริษัทในเครือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว การค้ำประกันโดยคิดค่าตอบแทนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
          2.กรณีตามข้อเท็จจริงที่บริษัท ค. หารือว่า บริษัท ค. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ท. มีผู้บริหารและกรรมการเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน บริษัท ค. จำเป็นต้องค้ำประกันสัญญากู้ยืมเงินภายใต้เงื่อนไขของสถาบันการเงินให้แก่บริษัท ท. และเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ของจำนวนเงินกู้ ทั้งนี้ บริษัท ค. ไม่ได้ประกอบกิจการในการรับค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่บุคคลอื่นหรือบุคคลอื่นใดในทางการค้า การค้ำประกันโดยคิดค่าตอบแทนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ค. มีหน้าที่นำค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/5(5) และมาตรา 91/7 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัท ค. มีหน้าที่เสียภาษีและได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้วตามมาตรา 91/7 และมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร หากต่อมาบริษัท ค. จะไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันกับบริษัท ท. อีกต่อไป หรือบริษัท ค. ยกเลิกการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันทั้งหมดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดค่าธรรมเนียมซึ่งเป็นค่าบริการตามราคาตลาดได้ ตามมาตรา 91/16 (6) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัท ค. ยกเลิกการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการค้ำประกันทั้งหมดและคืนเงินค่าธรรมเนียมให้แก่บริษัท ท. เนื่องจากการประกอบกิจการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เมื่อบริษัท ค. มีหน้าที่เสียภาษีและได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว ตามมาตรา 91/7 และมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
          3.เนื่องจากข้อเท็จจริงที่บริษัท ค. หารือ เป็นกรณีการค้ำประกันในหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินภายใต้เงื่อนไขของสถาบันการเงินให้บริษัทเข้าเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่บริษัทในเครือ โดยบริษัท ค. คิดค่าตอบแทน การค้ำประกันโดยคิดค่าตอบแทนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 1.2
เลขตู้ : 77/39075a

ขอบคุณบทความจาก ::https://www.rd.go.th
 653
Visitor
Get started for free today. ทดลองใช้งาน

Create a website for free Online Stores