เลขที่หนังสือ | : 0702/9467 |
วันที่ | : 4พฤศจิกายน 2556 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้กับกลุ่มผู้ได้รับการช่วยเหลือเงินชดเชย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ทวิ (4) มาตรา 65 ตรี (1)(3) (13) มาตรา 77/2 มาตรา 79 และมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | รัฐบาลได้มีนโยบายปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อกำกับราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมและเป็นการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนให้สะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ราคา 24.82 บาทต่อกิโลกรัม ภายในปี 2556 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแนวทางการปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน และการบรรเทาผลกระทบกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้ 1. ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นต้นไป จะเริ่มปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงราคากิโลกรัมละ 24.82 บาท และกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 (ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7) ที่จำหน่ายก๊าซ LPG ให้กับผู้บรรจุก๊าซหรือร้านค้าก๊าซ เพื่อจำหน่ายต่อให้กับภาคครัวเรือน ต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือนตามอัตราที่กำหนด ตามประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ 117 พ.ศ. 2556 เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือน ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556 2. เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน จึงได้กำหนดให้กลุ่มบุคคลต่อไปนี้ มีสิทธิซื้อก๊าซ LPG ในราคาเดิม โดยต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพลังงาน 2.1 กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ได้แก่ ครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน 2.2 กลุ่มร้านค้า หาบเร่ และแผงลอยอาหาร 3. โดยขอความร่วมมือร้านค้าก๊าซให้จำหน่ายก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ให้กับผู้ซื้อก๊าซ LPG แบ่งออกเป็น 2 ราคา ดังนี้ 3.1 กรณีจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปให้จำหน่ายในราคาที่มีการปรับใหม่ 3.2 กรณีจำหน่ายให้กับบุคคลตาม 2. ให้จำหน่ายในราคาเดิม ซึ่งเป็นการจำหน่ายต่ำกว่าราคาที่ร้านค้าก๊าซได้ซื้อมาจากผู้บรรจุก๊าซ 4. กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาเดิมและราคาที่มีการปรับใหม่ ให้กับร้านค้าก๊าซที่จำหน่ายก๊าซ LPG ในราคาเดิมให้กับบุคคลตาม 2. หากไม่ดำเนินการดังกล่าว ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องส่งเงินเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือน ตามข้อ 2 ของประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ 117 พ.ศ. 2556ฯ ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งเงินชดเชยดังกล่าวไม่ถือเป็นได้ของกองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือน โดยมีวิธีการจ่ายเงินชดเชย ดังนี้ 4.1 ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จะแบ่งส่วนรับผิดชอบร้านค้าก๊าซตามสัดส่วนทางการตลาด โดยร้านค้าก๊าซ 1 ร้าน จะถูกรับผิดชอบโดยผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 1 ราย โดยผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ได้ทำสัญญากับร้านค้าก๊าซเพื่อกำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชย ซึ่งแต่ละร้านค้าก๊าซจะได้รับเงินชดเชยไม่เท่ากัน 4.2 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จะสำรองจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวให้แก่ร้านค้าก๊าซจำนวนหนึ่ง เมื่อครบสิ้นเดือนจะมีการตรวจสอบยอดการใช้สิทธิซื้อก๊าซ LPG ในราคาเดิม และนำยอดเงินชดเชยที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ได้สำรองจ่ายให้กับร้านค้าก๊าซ มาหักกับยอดการใช้สิทธิซื้อก๊าซ LPG ในราคาเดิม หากปรากฏว่า ยอดเงินสำรองเงินชดเชยลดลง ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จะโอนเงินให้แก่ร้านค้าก๊าซตามจำนวนเงินชดเชยที่ลดลง เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7) ได้สำรองจ่ายเงินชดเชยให้แก่ร้านค้าก๊าซ ก. จำนวน 10,000 บาท ในวันที่ 1 กันยายน 2556 และเมื่อได้ตรวจสอบยอดการใช้สิทธิจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 ปรากฏว่าร้านค้าก๊าซ ก. ได้ใช้เงินชดเชยไปจำนวน 8,000 บาท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะโอนเงินให้แก่ร้านค้าก๊าซ ก. จำนวน 8,000 บาท เพื่อให้ยอดเงินชดเชยคงที่ 10,000 บาท เป็นต้น โดยจะดำเนินการในลักษณะดังกล่าวต่อไปทุกเดือนจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกโครงการ และเมื่อสิ้นสุดโครงการร้านค้าก๊าซจะโอนเงินที่เหลือคืนให้แก่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 4.3 เมื่อผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ได้จำหน่ายก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนจนครบ 60 วัน ต้องตรวจสอบยอดการจำหน่ายก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนทั้งหมด เพื่อคำนวณเงินที่จะต้องส่งเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือน โดยนำเงินที่จะต้องส่งเข้ากองทุนหักกับเงินชดเชยที่จ่ายให้แก่ร้านค้าก๊าซ (เงินชดเชยที่จ่ายให้แก่ร้านค้าก๊าซต้องไม่เกินจำนวนที่ร้านค้าก๊าซได้จำหน่ายก๊าซ LPG ให้แก่ผู้ใช้สิทธิซื้อก๊าซ LPG ในราคาเดิม) จึงคงเหลือเงินส่งเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือนต่อไป เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ร้านค้าก๊าซ ก. จำนวน 10,000 บาท ในวันที่ 1 กันยายน 2556 และจำนวน 8,000 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ได้มีการตรวจสอบยอดการจำหน่ายก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนทั้งหมด ปรากฏว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือนจำนวน 100,000 บาท และร้านค้าก๊าซ ก. จะต้องได้รับเงินชดเชยจากการใช้สิทธิซื้อก๊าซ LPG ในราคาเดิม จำนวน 16,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าเนชดเชยที่ได้รับจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดังนั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องส่งเงินเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือน จำนวน 84,000 บาท (100,000 - 16,000) 5. จึงหารือว่า 5.1 เงินชดเชยที่ผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 จ่ายให้กับร้านค้าก๊าซ ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ 5.2 การจ่ายเงินชดเชยให้กับร้านค้าก๊าซ ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ 5.3 เงินชดเชยดังกล่าวถือเป็นเงินได้ของร้านค้าก๊าซ และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ 5.4 กรณีที่ร้านค้าก๊าซจำหน่ายก๊าซ LPG ให้กับบุคคลตาม 2. ต่ำกว่าราคาตลาด สามารถทำได้ หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | 1. กรณีตาม 5.1 ตามประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ 117 พ.ศ. 2556ฯ ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556 กำหนดให้ ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่จำหน่ายก๊าซ LPG ให้กับผู้บรรจุก๊าซหรือร้านค้าก๊าซ เพื่อจำหน่ายต่อให้กับภาคครัวเรือน ต้องส่งเงินเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือนตามอัตราที่กำหนด เว้นแต่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่ได้จ่ายเงินชดเชยให้กับร้านค้าก๊าซที่จำหน่ายก๊าซ LPG ให้กับบุคคลตาม 2. ไม่ต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือนเท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่จ่ายให้กับร้านค้าก๊าซ ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่จำหน่ายก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน เลือกที่จะส่งเงินเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือน หรือให้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ร้านค้าก๊าซที่จำหน่ายก๊าซ LPG ให้กับบุคคลตาม 2. ก็ได้ ดังนั้น หากผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เลือกจ่ายเงินชดเชยให้แก่ร้านค้าก๊าซที่จำหน่ายก๊าซ LPG ให้กับบุคคลตาม 2. แทนการส่งเงินเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือน รายจ่ายดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่กิจการโดยเฉพาะ ไม่ต้องห้ามที่มิให้นำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ต้องไม่เกินจำนวนเงินชดเชยที่จ่ายให้แก่ร้านค้าก๊าซตามจำนวนที่มีผู้ใช้สิทธิซื้อก๊าซ LPG ในราคาเดิมจริง ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (1) (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีตาม 5.2 และ 5.3 ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จ่ายเงินชดเชยให้แก่ร้านค้าก๊าซ เพื่อร้านค้าก๊าซจะจำหน่ายก๊าซ LPG ให้กับบุคคลตาม 2. ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ตามประกาศคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ฉบับที่ 117 พ.ศ. 2556ฯ ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เงินชดเชยดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ของร้านค้าก๊าซที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วแต่กรณี แต่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เนื่องจากไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และเงินค่าชดเชยดังกล่าว ก็ไม่ใช่ค่าตอบแทนที่ร้านค้าก๊าซได้รับเนื่องจากการขายสินค้าหรือให้บริการ จึงไม่เป็นมูลค่าของฐานภาษี และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีตาม 5.4 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน เพื่อกำกับราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมและเป็นการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และมอบหมายให้ กบง. กำหนดแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร โดย กบง. ได้ขอความร่วมมือจากร้านค้าก๊าซ ให้จำหน่ายก๊าซ LPG แก่กลุ่มบุคคลดังกล่าวในราคาเดิม ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องไปขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพลังงาน และกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จ่ายเงินเชดเชยส่วนต่างให้แก่ร้านค้าก๊าซ แทนการส่งเงินเข้ากองทุนสำหรับก๊าซที่จำหน่ายให้ภาคครัวเรือน ดังนั้น การที่ร้านค้าก๊าซจำหน่ายก๊าซ LPG ให้แก่บุคคลตาม 2. ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน และเป็นการให้ความร่วมมือตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 ประกอบกับร้านค้าก๊าซจะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างจากผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ถือได้ว่า เป็นการขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร เจนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินค่าตอบแทนนั้นตามราคาตลาดในวันที่ขายสินค้า ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีอำนาจประเมินมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 76/38793 |