เลขที่หนังสือ | : กค 0702/6936 |
วันที่ | : 2 สิงหาคม 2556 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนำสโมสรฟุตบอล Futbol Club Barcelona (ประเทศสเปน) มาแข่งขันในประเทศไทย |
ข้อกฎหมาย | : อนุสัญญาภาษีซ้อยไทย-สเปน เรื่อง นักกีฬาเข้ามาแข่งขันในไทย |
ข้อหารือ | บริษัทฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญากับทีมสโมสรฟุตบอล FCB เพื่อจัดให้มีการแข่งขันระหว่างทีม B กับทีมชาติไทยในประเทศไทย สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้ 1. บริษัทฯ ได้ทำสัญญากับ FCB ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสเปนให้นำนักฟุตบอลในสังกัดเข้ามาแข่งขันในประเทศไทย โดยบริษัทฯ ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับ FCB และบริษัทฯ จะได้รับสิทธิเป็นผู้สนับสนุนหลัก โดยมีสิทธิที่จะโฆษณาสินค้าของบริษัทฯ ในบริเวณพื้นที่สนามแข่งขัน พื้นที่บริเวณจัดแถลงข่าว การออกรายการ การให้สัมภาษณ์ ฯลฯ บริษัทฯ ได้หารือว่า FCB จะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย หรือไม่ และบริษัทฯ จะมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่ 2. นักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาแข่งขันและทำงานในประเทศไทยรวมระยะเวลาไม่เกินหกเดือน จะมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย หรือไม่ อย่างไร 3. กรณีที่บริษัทฯ ทำสัญญากับ FCB ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เนื่องจาก FCB เป็นผู้ประกอบการนอกราชอาณาจักรซึ่งเข้ามาประกอบกิจการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ FCB เพื่อตอบแทนการได้รับสิทธิเป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขัน บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ FCB มีหน้าที่ชำระตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | 1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีที่บริษัทฯ ทำสัญญากับ FCB เพื่อให้นำนักฟุตบอลอาชีพในสังกัดของ FCB เข้ามาแข่งขันในประเทศไทย ค่าตอบแทนซึ่ง FCB ได้รับเข้าลักษณะเป็นกำไรจากการจัดให้มีการแสดงหรือนักกีฬา ดังนั้น FCB จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 17 วรรคสี่ แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสเปน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (อนุสัญญาฯ) ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 อนึ่ง โดยที่การตกลงนำนักฟุตบอลในสังกัดเข้ามาแข่งขันในประเทศไทยเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาฯ ให้กับ FCB บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งในอัตราร้อยละ 5.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2.1เงินได้ที่นักฟุตบอลซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศสเปนได้รับจากการเข้ามาแข่งขันในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย และเป็นเงินได้ที่ได้รับในฐานะนักแสดงหรือนักกีฬา ดังนั้น นักฟุตบอลจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ดังกล่าว มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 17 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 2.2 เงินได้ที่เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศสเปนและเป็นลูกจ้างของ FCB ได้รับจากการเข้ามาทำงานในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย และเป็นบริการส่วนบุคคลที่ไม่อิสระ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการเข้ามาทำงานนั้น มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 15 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงเป็นไปตามเงื่อนไขทั้ง 3 ประการดังนี้ ก. เจ้าหน้าที่อยู่ในประเทศไทยช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันไม่เกินกว่า 183 วัน ในช่วง 12 เดือนใดๆ และ ข. ค่าตอบแทนนั้นจ่ายโดยหรือในนามของนายจ้างผู้ซึ่งมิได้เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และ ค. ค่าตอบแทนนั้นไม่ตกเป็นภาระแก่สถานประกอบการถาวรหรือฐานประกอบการประจำซึ่งนายจ้างมีอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ตามข้อ 15 วรรคสอง แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 2.3 โดยที่บริษัทฯ มิใช่ผู้จ่ายเงินได้ให้กับนักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ตาม 2.1 และ 2.2 ดังนั้น บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีที่ FCB นำนักฟุตบอลเข้ามาแข่งขันในประเทศไทยตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการนอกราชอาณาจักรและเข้ามาประกอบกิจการให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร ฉะนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้โอนค่าตอบแทนไปให้ FCB บริษัทฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ FCB มีหน้าที่ต้องเสีย ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 76/38719 |