เลขที่หนังสือ | : กค 0702/พ./5500 |
วันที่ | : 25 มิถุนายน 2556 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายดอกเบี้ยของค่าก่อสร้าง |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/2(1) มาตรา 79 มาตรา 82/4 มาตรา 78/1 และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | กรณีการจ่ายดอกเบี้ยค่าจ้างจากการรับเหมาก่อสร้าง สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้ 1. รัฐวิสาหกิจ ได้ว่าจ้างบริษัทฯ และกลุ่มบริษัทค้าร่วมรายอื่น (ผู้รับจ้าง) เพื่อก่อสร้างโครงการฯ และสถานีรับส่งผู้โดยสารตามสัญญาฯ ลงวันที่ 20 มกราคม 2548 โดยระหว่างการก่อสร้าง มีสถาบันการเงินให้การสนับสนุนทางการเงิน (กลุ่มธนาคารฯ) แก่ผู้รับจ้างไปก่อน ซึ่งวงเงินตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ยคืนทั้งหมดที่รัฐวิสาหกิจจะต้องจ่ายคืนตามมติของคณะรัฐมนตรี ให้กลุ่มธนาคารฯ ซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในค่าจ้างก่อสร้างและเงินอื่นใดตามสัญญาก่อสร้างจากผู้รับจ้างภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งประกอบด้วย 1.1 ค่าก่อสร้างทั้งโครงการ 1.2 ดอกเบี้ยค่าก่อสร้างตามข้อ 1.1 1.3 ค่าธรรมเนียมทางการเงิน 1.4 ดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างล่วงหน้า 2. ตามที่กรมสรรพากรเคยตอบข้อหารือเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่คู่สัญญาและสถาบันการเงินผู้สนับสนุนทางการเงินเกี่ยวกับภาษีอากร นั้น ยังไม่ครบถ้วนในบางประเด็นเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากดอกเบี้ยจ่ายของค่าก่อสร้าง ดอกเบี้ยค่าจ้างล่วงหน้า ดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมทางการเงิน และหน่วยงานใดจะต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจากดอกเบี้ยดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ เห็นว่า 3. รัฐวิสาหกิจ หรือผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากดอกเบี้ยของค่าก่อสร้าง ดอกเบี้ยของค่าจ้างล่วงหน้า และดอกเบี้ยของค่าธรรมเนียมทางการเงิน 4. กรณี รัฐวิสาหกิจ เป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากดอกเบี้ยของค่าก่อสร้าง ดอกเบี้ยของค่าจ้างล่วงหน้า และดอกเบี้ยของค่าธรรมเนียมทางการเงิน ผู้รับจ้างต้องดำเนินการอย่างไรในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของดอกเบี้ยดังกล่าว |
แนววินิจฉัย | 1. ส่วนกรณีผู้รับจ้างโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญากับ รัฐวิสาหกิจ ให้กลุ่มธนาคารฯ จะถือว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มจากดอกเบี้ยของค่าก่อสร้าง ดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างล่วงหน้า และดอกเบี้ยของค่าธรรมเนียมทางการเงินย่อมเป็นสิทธิเรียกร้องที่ผู้รับจ้างโอนให้แก่กลุ่มธนาคารฯ ด้วยหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้รับจ้างกับกลุ่มธนาคารฯ ได้ระบุถึงการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินทั้งหมดหรือไม่ และการโอนได้มีการทำหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยัง รัฐวิสาหกิจ ลูกหนี้ การโอนสิทธิเรียกร้องจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากการโอนสิทธิเรียกร้องมีผลสมบูรณ์และมีการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินทั้งหมดให้กับกลุ่มธนาคารฯ แล้ว ย่อมมีผลผูกพัน รัฐวิสาหกิจ ในการชำระค่าก่อสร้าง ค่าจ้างล่วงหน้าและค่าธรรมเนียมทางการเงิน รวมถึงดอกเบี้ยและค่าเพิ่มให้แก่กลุ่มธนาคารฯ ตามสัญญา มติคณะรัฐมนตรี 2. ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการเกิดขึ้นตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ รัฐวิสาหกิจ จะต้องชำระค่าจ้าง ค่าธรรมเนียมทางการเงิน ค่าจ้างล่วงหน้ารวมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญา ผู้รับจ้างมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้รับจ้างได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับชำระเงินให้แก่กลุ่มธนาคารฯ ผู้ให้การสนับสนุนทางการเงิน การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ทำให้ความรับผิดตามประมวลรัษฎากรระหว่างผู้รับจ้าง และ รัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อกลุ่มธนาคารฯ ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้รับชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างจาก รัฐวิสาหกิจ แทนผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างในฐานะผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ รัฐวิสาหกิจ |
เลขตู้ | : 76/38666 |