เลขที่หนังสือ | : กค 0702/1984 |
วันที่ | : 5 มีนาคม 2556 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีของดเงินเพิ่มของผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอุทกภัย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | 1. บริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการให้คำปรึกษาและออกแบบสารสนเทศงานคอมพิวเตอร์ บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด.1)สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2554 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2554 เกินกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนดจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ แต่บริษัทฯ ได้ชำระเฉพาะตัวภาษีเท่านั้น สท. จึงได้ตั้งหนี้ค้างไว้สำหรับเงินเพิ่มตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร (บช.35) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2554 เป็นจำนวนเงิน 3,592.41 บาท (เฉพาะเงินเพิ่ม) 2. บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ชี้แจงว่า มีความประสงค์จะขอยกเว้นเงินเพิ่ม เนื่องจากเข้าใจผิดว่ามีการขยาย ระยะเวลาชำระภาษีเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ตามข้อความที่ระบุใน Pay-in Slip จากการยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตของบริษัท นวไพศาล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน โดยในเอกสารไม่ได้มีการระบุว่า เฉพาะเขตพื้นที่น้ำท่วม และต่อมาภายหลังทราบว่า สถานที่ทำการของบริษัทฯ ไม่ได้อยู่ในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติอุทกภัย ทำให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2554 ล่าช้า เกินกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องชำระเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงิน 3,592.41 บาท |
แนววินิจฉัย | กรณีบริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สท.กรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ได้อยู่ในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติอุทกภัย เมื่อบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2554 ในวันที่ 28 ธันวาคม 2554 จึงเป็นการยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ล่าช้า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และการยื่นรายการตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 52 มาตรา 59 และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเดือนกันยายน 2554 เดือนตุลาคม2554 และเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งจะต้องนำส่ง และยื่นรายการภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ตามข้อ 2.2.1 ของคำชี้แจงกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2554เมื่อบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 พร้อมนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เกินกำหนดเวลา บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนำส่ง ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีของดเงินเพิ่มไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจกระทำได้ |
เลขตู้ | : 76/38487 |