เลขที่หนังสือ | : กค 0702/1447 |
วันที่ | : 22 กุมภาพันธ์ 2553 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษา |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 76 ทวิ มาตรา 79 มาตรา 80 และมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | 1. บริษัท A (บริษัทฯ) เป็นบริษัทเอกชนในประเทศไทย ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท B นิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศ C ไม่มีสาขาในประเทศไทย ให้เป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคเพื่อการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมที่ B 2. สัญญาว่าจ้างกำหนดให้ B เป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคในการสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานลม โดยมีระยะเวลาของโครงการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมดเป็นระยะเวลา 5 ปี และแบ่งโครงการออกเป็น 3 ระยะ คือ (1) ระยะเวลาออกแบบและยื่นประมูล เป็นระยะเวลา 8 เดือน 3 (2) ระยะเวลาก่อสร้างและปฏิบัติงาน เป็นระยะเวลา 30 เดือน (3) ระยะเวลารับประกัน เป็นระยะเวลา 24 เดือน (4) B จะส่งเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติเข้ามาดำเนินงานตามโครงการให้บริการเป็นที่ปรึกษาในประเทศไทย จำนวน 12 คน โดยทั่วไปเจ้าหน้าที่แต่ละคน จะทำงานและพำนักในประเทศไทยเป็นระยะเวลาประมาณ 5-10 วัน และจะไม่มีการพำนักอยู่ในประเทศไทยเกิน 6 เดือนต่อคนทำงาน หรือ 6 เดือนของปีปฏิทิน ภายในช่วงระยะเวลา 12 เดือนใดๆ ส่วนที่เหลือของปริมาณงานที่คิดเป็นเดือนต่อคนทำงานจะเป็นงานที่ทำในสำนักงานโรงงานผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าในยุโรป สถานทูตฯ ขอหารือว่า B ต้องเสียภาษีในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | 1. กรณีบริษัทฯ ทำสัญญาจ้าง B ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศ C เป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคการก่อสร้าง โรงงานไฟฟ้าพลังงานลม โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำปรึกษาในประเทศไทย เงินได้จากการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้าง โรงงานไฟฟ้าพลังงานลมตามสัญญาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่ง ราชอาณาจักรเดนมาร์ก และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับ ภาษีเก็บจากเงินได้ เมื่อ B ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินงานให้บริการเป็นที่ปรึกษาตามโครงการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมใน ประเทศไทย จำนวน 12 คน แม้เจ้าหน้าที่แต่ละคนจะทำงานและพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาประมาณ 5-10 วัน ไม่มี การพำนักอยู่ในประเทศไทยเกิน 6 เดือน แต่เนื่องจาก เจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินงานตามโครงการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมใน ประเทศไทย รวมระยะเวลาประมาณ 58 เดือน ดังนั้น เมื่อ B ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาในประเทศไทยโดยมีการดำเนินการติดต่อกัน สำหรับโครงการเดียวกันในประเทศไทยเป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 6 เดือนในระยะเวลาสิบสองเดือนใดๆ ถือว่า B ให้บริการ ผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฯดังกล่าว เมื่อ B ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาจากการ ให้บริการให้คำปรึกษาดังกล่าว B จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ค่าที่ปรึกษาตามสัญญาดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ชำระเงินตามสัญญาให้แก่ B หาก B ไม่มีสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ในประเทศไทย ไม่มี การทำสัญญาซื้อขายนอกจากการรับจ้างทำของในประเทศไทย และไม่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อลูกจ้างในประเทศไทย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.8/2528 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2528 บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้ ในอัตราร้อยละ 5 ตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 2. เมื่อ B เข้ามาให้บริการเป็นที่ปรึกษาการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทยให้แก่บริษัทฯ การให้ บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร หาก B ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในราชอาณาจักรเป็นการ ชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ B มีหน้าที่ต้องเสียตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยแบบ ภ.พ.36 ในอัตราร้อยละ 7.0 โดยมีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานภาษีและอัตราภาษีตามมาตรา 79 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | :73/37146 |